พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (2)

Main Article Content

เจษฎ์ โทณะวณิก

บทคัดย่อ

ประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีประเพณีการปกครองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะปกครองด้วยระบอบใด สำหรับประเทศไทยเรานั้นก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เรามีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนเมื่อภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศเราก็ได้เปลี่ยนเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งบางทีก็เรียกว่าระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของประเทศชาติบ้านเมืองเรา เรามีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์มาช้านาน อาจจะเรียกได้ว่าตลอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทย ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นประมุขของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือทรงเป็นประมุขของรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยาวนานที่สุด และนับถึงปัจจุบันทรงเป็นประมุขของรัฐในระบอบนี้ยาวนานที่สุดของโลกด้วย คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทย โดยที่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่านอันเป็นเวลายาวนานถึง ๗๐ กว่าปี ได้ทรงแสดงถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเข้าพระทัย และทรงสามารถปฏิบัติได้อย่างบริบูรณ์ในประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่บทความนี้จะได้กล่าวถึงเป็นการเฉพาะ คือ การทรงดำรงพระองค์อยู่ในภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างไม่เคยทรงละเมิดบทบัญญัติใดๆ ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงทรงธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งรัฐธรรมนูญหรือหลักแห่งรัฐธรรมนูญ (constitutional convention) อย่างเคร่งครัด และได้ทรงอรรถาธิบายถึงการใช้มาตราของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับประเพณีดังกล่าว ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นที่รู้จักกันคือ มาตรา ๗ ที่ระบุว่า “ในเมี่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งมีนัยที่ผู้คนตีความกันผิดและใช้อย่างไม่ถูกต้องอยู่หลายคำรบ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านได้ทรงอธิบายหลักดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งบทความนี้ได้อัญเชิญมาลงไว้ให้ได้ศึกษากัน นอกจากนั้นยังได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ท่านในเรื่องหลักพระมหากษัตริย์ไม่อาจมีความผิดได้ (The King can do no wrong.) ที่ได้ทรงสอนไว้อย่างแจ่มชัดไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และเป็นเช่นที่ปราชญ์ระดับโลกทั้งหลายได้บอกสอนเอาไว้ เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ได้ทราบว่าหลักดังกล่าวนั้นเป็นอย่างไร พระองค์ท่านทรงดำรงตนภายใต้หลักดังกล่าวอย่างไร และหลักเช่นว่านั้นเชื่อมโยงอย่างไรกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทรงประพฤติปฏิบัติอย่างสมบูรณ์มาตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่าน (บทคัดย่อจากบทความพิเศษ (เรื่องเดียวกัน ตอนที่ 1) ภายในวารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1)

Article Details

บท
บทความพิเศษ