ปัจจัยที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนในการทำงานเป็นวิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กรณีศึกษาบริษัทรถยนต์ข้ามชาติแห่งหนึ่ง

Main Article Content

ตรีทิพย์ ขันตี
วาสิตา บุญสาธร

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนในการทำงานเป็นวิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งเสริมความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตในงานของวิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้แนวคิดความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนของ Zigarmi และคณะ (2011) รวมถึงพีรามิดของความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนในงานของ Integro Leadership Institute (2012) สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้แบบสอบถามกึ่งโครงสร้างในการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นวิทยากร
ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีผลการปฏิบัติอยู่ในระดับดี จำนวน 10 คน เมื่อเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ครบ จึงนำมาสรุปถึงปัจจัยที่มีผลต่อความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนในงานของวิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งปัจจัยที่นำไปสู่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตในอาชีพ


ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนในการทำงานเป็นวิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย 8 ประการ ได้แก่ 1. ความร่วมมือในการทำงาน (Collaboration) 2. การได้ช่วยเหลือคนอื่น (Helping others) 3. การยอมรับ (Acceptance) 4. การได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา (Receiving chance for learning and development) 5. การบริหารจัดการเวลา (Management of time) 6. สิ่งจูงใจ (Incentive) 7. การได้ทำงานที่มีคุณค่า (Nourishing job) และ 8. การได้รับงานที่ท้าทาย (Getting challenging task) โดยผู้วิจัยได้สรุปปัจจัยทั้ง 8 ประการ โดยใช้ตัวแบบ “CHARMING” แปลว่า “เสน่ห์” เป็นตัวแบบส่งเสริมให้วิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกิดความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ นอกจากนี้สำหรับผลการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองเพื่อเติบโตในงาน ประกอบด้วย 5 ประการ ได้แก่ 1. เป้าหมายองค์กรที่ชัดเจน (Clear vision) 2. วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรแบบการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Culture of Continuous Improvement) 3. การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ (Communication skill) 4. การได้รับการยอมรับ (Recognition) และ 5. งานที่ท้าทาย (Challenging tasks) โดยผู้วิจัยได้สรุปเป็นตัวแบบ “RC4” โดยเปรียบการทำงานเป็นการแข่งแรลลี่ (Rally) ความก้าวหน้าในงานวิทยากรระดับภูมิภาคเป็นเป้าหมายปลายทาง ซึ่งบุคลากรแต่ละคนต้องมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง โดยการหา RC เพื่อให้
การเดินทางถึงปลายทางอย่างเร็วและไม่หลงทาง


จากผลการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นแนวทางสำหรับองค์กรในการบริหารจัดการ การวางแผนส่งเสริมให้วิทยากรระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทำหน้าที่อย่างมีความสุข สนุก เกิดความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนในการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ สร้างบุคลากรและพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพ ช่วยขับเคลื่อนองค์กร
สู่เป้าหมายและความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

Article Details

บท
บทความวิจัย