พฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพจิตด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาของผู้สูงอายุเขตเมือง
Main Article Content
บทคัดย่อ
ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาเป็นรูปแบบที่ผสมผสานวิถีการดำเนินชีวิตสู่การสร้างเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ การศึกษานี้จึงได้ศึกษาพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพจิตด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาของผู้สูงอายุ ใช้รูปแบบการศึกษาเชิงสำรวจชนิดการสำรวจแบบภาคตัดขวาง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุเขตเทศบาลตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 265 ครัวเรือน และผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 26 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการและการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นอย่างง่ายและการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 67.19) เจตคติและการปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพจิตด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาของผู้สูงอายุอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.28 ± 0.72 และ 1.90 ± 0.70 ตามลำดับ) อายุและความรู้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p - value = 0.004 และ 0.000 ตามลำดับ) ส่วนเจตคติต่อภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p - value = 0.000)