การกระจายของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม2.5) ในอากาศของแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน
Main Article Content
บทคัดย่อ
การตรวจวัดหาระดับรายวันของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมโครเมตร (พีเอ็ม 2.5) โดยน้ำหนักในอากาศแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ได้ดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน 2547 ถึง เดือนพฤษภาคม 2549 อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กถูกเก็บด้วยกระดาษกรองที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 47 มิลลิเมตรโดยใช้เครื่องเก็บอากาศขนาดเล็ก ส่วนข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่ระดับความสูงจากพื้น 6 เมตร ได้ข้อมูลจากสถานีอุตุนิยมวิทยาภาคเหนือที่อยู่ใกล้กับจุดเก็บตัวอย่าง ระดับรายปีเฉลี่ยของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5)โดยน้ำหนัก ระหว่างมิถุนายน 2547 ถึงพฤษภาคม 2548 มีค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 35.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ ระหว่างมิถุนายน 2548 ถึง พฤษภาคม 2549 มีค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 35.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้โดยองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา และค่าเฉลี่ยที่วัดได้ ในฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อนระหว่างมิถุนายน 2547 ถึงพฤษภาคม 2548 เท่ากับ 17.8 52.3 และ 36.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ จากการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายวันของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) โดยน้ำหนักกับสารมลพิษในอากาศบางชนิด และตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยา โดยการวิเคราะห์การถดถอย พบว่า ความเข้มข้นของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) โดยน้ำหนัก แปรตามความเข้มข้นของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม10) และสารมลพิษในอากาศบางชนิด (โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) นอกจากนี้ได้เปรียบเทียบระดับรายวันของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) โดยน้ำหนัก ระหว่างวันทำงานกับวันหยุดของสัปดาห์และระหว่างฤดูกาล และยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) โดยน้ำหนัก มีค่าสูงสุดเมื่อทิศทางลมพัดมาจากทิศใต้โดยมีความเร็วลมในระดับปานกลาง อุณหภูมิปานกลางและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ
Article Details
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลานี้ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาก่อนเท่านั้น