การเจริญเติบโตและคุณภาพซากของนกกระทาญี่ปุ่นที่กินอาหารเสริมกากกระเจี๊ยบแดง

Main Article Content

วิศิษย์ เกตุปัญญาพงศ์
อับดุลรอฮิม เปาะอีแต
ฮานีย๊ะ เปาะเย๊าะ

บทคัดย่อ

กระเจี๊ยบแดง (Hibiscus sabdariffa) เป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเหนียวข้นของเลือด ช่วยการย่อยอาหารดีขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการทดลองนำกากกระเจี๊ยบแดงมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงนกกระทาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต ปริมาณอาหารที่กิน อัตราการเปลี่ยนอาหาร และคุณภาพซากในนกกระทาอายุ 5–13 สัปดาห์ ทำการทดลองโดยใช้นกกระทาญี่ปุ่นเพศผู้จำนวน 400 ตัว ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (CRD) ประกอบด้วย 4 ทรีทเมนต์ 5 ซ้ำ ๆ ละ 20 ตัว ดังนี้กลุ่มที่ 1 (Control)ได้รับอาหารนกกระทาสำเร็จรูป กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารนกกระทาสำเร็จรูปเสริมกากกระเจี๊ยบแดง 1.0 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 3 ได้รับอาหารนกกระทาสำเร็จรูปเสริมกากกระเจี๊ยบแดง 3.0 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มที่ 4 ได้รับอาหารนกกระทาสำเร็จรูปเสริมกากกระเจี๊ยบแดง 5.0 เปอร์เซ็นต์ เก็บข้อมูลปริมาณอาหารที่กิน ปริมาณน้ำที่กิน และน้ำหนักตัวนกทุก ๆ สัปดาห ์ และศึกษาเกี่ยวกับลักษณะซากของนกกระทาเมื่ออายุ 13 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป IRRISTATฎ ผลการศึกษาพบว่า การใช้กากกระเจี๊ยบแดงในระดับต่าง ๆ ทำให้นกกระทามีน้ำหนักตัวต่ำกว่านกกระทาที่ได้รับอาหารกลุ่มควบคุมแต่ไม่แตกต่างทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่า การเสริมกากกระเจี๊ยบแดงในอาหารนกกระทาที่ระดับ 1.0, 3.0 และ 5.0 เปอร์เซ็นต์มีผลทำให้การเจริญเติบโตลดต่ำลงเมื่อเทียบกับนกกระทาที่ได้รับอาหารในกลุ่ม Control แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P<0.01) และยังส่งผลให้อัตราการเปลี่ยนอาหารสูงกว่านกกระทาในกลุ่ม Control แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P<0.01) และเมื่อศึกษาถึงลักษณะซากพบว่า ไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่พบว่าเมื่อใช้ กากกระเจี๊ยบแดงเสริมในอาหารนกกระทาระดับ 1.0 และ 3.0 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เปอร์เซ็นต์ ไขมันช่องท้องน้อยกว่ากลุ่ม Control แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ(P< 0.01) การศึกษาลักษณะสีของซากนกกระทาพบว่า สีเนื้อหน้าอก ไขมันช่องท้อง หัวใจ และสีตับของกระทาที่ได้รับอาหารเสริมกากกระเจี๊ยบแดง 1.0 3.0 และ 5.0 เปอร์เซ็นต์ พบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติ การวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่ากากกระเจี๊ยบแดง มีคุณสมบัติช่วยในการลดไขมันช่องท้องในนกกระทาญี่ปุ่นได้ โดยนกกระทาที่ได้รับกากกระเจี๊ยบแดงทุกกลุ่มทุกอัตรามีปริมาณไขมันช่องท้องที่น้อยกว่า กลุ่มนกกระทาที่ไม่ได้รับกากกระเจี๊ยบแดง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ(P<0.01) และในการทำการวิจัยครั้งต่อไป ควรทำการศึกษาในประเด็น ค่าทางโลหิตวิทยา และระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เพื่อตรวจสอบผลการลดระดับไขมันและระดับโคเลสเตอรอลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย