เพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลู : กำเนิด พัฒนาการ และบทบาทในการขับขาน

Main Article Content

ภิญโญ เวชโช

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกำเนิด และพัฒนาการของเพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลู ศึกษา องค์ประกอบวิธีการแสดง และบทบาทในการขับขานที่มีต่อสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม และใช้เอกสารประกอบในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลของการศึกษา พบว่า เพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลูกำเนิดมาจากการละเล่นเชิงพิธีกรรมประกอบดนตรี เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของภูตผีวิญญาณ เทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ชาวมุสลิมเรียกว่า ดิเกร์อาวัล ดิเกร์อาวา หรือ ดิเกร์ออ ซึ่งเกิดขึ้นจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในอาณาจักรปัตตานีเมื่ออดีตที่ผสมผสานทับซ้อนกันมา คือ ความเชื่อดั้งเดิม ฮินดู-ชวาชวา-มลายู และศาสนาอิสลาม ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนการละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เป็นการละเล่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนาน ตั้งเป็นวงหรือคณะขึ้น เรียกการละเล่นที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ว่าดิเกร์ฮูลู นิยมเล่นและแสดงในงานมงคลต่าง ๆ เพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลูพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเมืองการปกครอง กลุ่มศิลปินผู้แสดง และปรากฏการณ์การแสดง จากข้อมูลที่ค้นพบสามารถแบ่งเป็นยุคและช่วงระยะเวลา คือ ยุคเริ่มต้น ยุคแยกสาย-ผสมผสานยุคอพยพวัฒนธรรม ยุคการปกครองระบบ 7 หัวเมือง และยุคเพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลูเพื่อการแสดง เพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลูเมื่อได้พัฒนาเป็นการแสดงตั้งเป็นวงหรือคณะขึ้น คณะหนึ่ง ๆ มีองค์ประกอบในการแสดง ขั้นตอนและวิธีการแสดง เครื่องดนตรีที่ใช้และการแต่งกายมีเอกลักษณ์เฉพาะและถือเป็นธรรมเนียมนิยมในการแสดงมี 2 รูปแบบ คือ การแสดงแบบคู่ซึ่งเป็นการแสดงแบบดั้งเดิม และการแสดงแบบเดี่ยวที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อให้สอดรับกับกลุ่มผู้ชม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากเพลงร้องในการแสดง พบว่า เพลงพื้นบ้านดิเกร์ฮูลูมีบทบาทในการขับขานต่อสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในด้านให้ความบันเทิง การให้การศึกษา การควบคุมสังคม การระบายความคับข้องใจ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และบทบาทในฐานะที่เป็นสื่อสารมวลชนของชาวบ้าน

Article Details

บท
บทความวิจัย