สภาพการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองและแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษา : กรณีศึกษาจังหวัดนราธิวาส
Main Article Content
บทคัดย่อ
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ ประชากรในพื้นที่ร้อยละ 83 ใช้ภาษามลายูสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทั้งนีโรงเรียนสายสามัญของกระทรวงศึกษาธิการจัดการเรียนการสอนและใช้สื่อการสอนเป็นภาษาไทย ทำให้เด็กในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูเป็นหลักในชีวิตประจำวันปรับตัวไม่ทัน กระทบต่อการเรียนรู้ในวิชาการแขนงต่างๆ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและต่ำที่สุดในประเทศ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองในจังหวัดนราธิวาส และแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษาเครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับสภาพการจัดประสบการณ์เรียนรู้และแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษา กลุ่มตัวอย่างใช้วิธีเลือกแบบชั้นภูมิตามเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 43 คน และครูปฐมวัย จำนวน 119 คน รวม จำนวน 162 คน ผลการวิจัยพบว่า สภาพการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาสทั้ง 3 เขต มีปัญหาสำคัญที่พบ 3 ด้าน คือ 1) เด็กไม่สามารถใช้ภาษาไทยสื่อสารในการจัดประสบการณ์เรียนรู้ได้ 2) ครูปฐมวัยไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก และ 3) โรงเรียนยังขาดแคลนเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการจัดประสบการณ์เรียนรู้แบบสองภาษา สำหรับแนวทางในการพัฒนาสื่อประสมสองภาษานั้นทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครูปฐมวัยมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรใช้ภาษาถูกต้องชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษามลายู โดยเป็นสื่อที่ให้เด็กมีส่วนร่วมและเน้นเด็กเป็นสำคัญ สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546
Article Details
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลานี้ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาก่อนเท่านั้น