มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ศึกษากรณี ผู้ค้ายาเสพติด
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาปัญหาการไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทย (๒) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิด การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และการสงเคราะห์ผู้กระทำความผิดเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (๓) ศึกษามาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของประเทศไทยและต่างประเทศ และ (๔) เสนอแนวทางมาตรการกฎหมายในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือ ตำรา บทความวิชาการ คำพิพากษาของศาล และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำข้อมูลจากการศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และเรียบเรียงในรูปแบบพรรณนาความ เพื่อให้เกิดแนวทางมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทย
ผลการศึกษาพบว่า (๑) ประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้กำหนดมาตรการกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้เสพยาเสพติดไว้เป็นการเฉพาะ ตามแนวคิดที่ว่า “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ประมวลกฎหมายยาเสพติด คงมีเพียงมาตรการแก้ไขฟื้นฟูโดยกรมราชทัณฑ์ในขณะที่รับโทษอยู่เพียงเท่านั้น (๒) ภายใต้ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด การป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ จะต้องประกอบด้วยกระบวนการ ๓ ส่วน ได้แก่ การแก้ไขฟื้นฟู การกำกับติดตามภายหลังปล่อย และกระบวนการสงเคราะห์ภายหลังปล่อย (๓) การป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของประเทศไทย ปรากฏมาตรการกฎหมายเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศและการใช้ความรุนแรงเท่านั้น โดยพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ๒๕๖๕ ทว่าในส่วนของการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้ค้ายาเสพติด ดำเนินไปในลักษณะนโยบายกระทรวงยุติธรรม ด้วยการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นการดำเนินงานในลักษณะการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้แก่ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ไม่เทียบเท่ากับกรณีการรับรองไว้โดยกฎหมายโดยตรง (๔) ผู้วิจัยจึงเสนอแนวทาง ดังนี้ ๑) กรณีมาตรการกำกับติดตามผู้ค้ายาเสพติดภายหลังปล่อย ควรนำเอามาตรการการกำหนดกรอบระยะเวลาในการคุมประพฤติภายหลังปล่อยและรวมถึงมาตรการในการกำกับติดตามผู้พ้นโทษภายหลังปล่อย ตามแบบอย่างที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา มาบังคับใช้กับกรณีผู้ค้ายาเสพติด ด้วยการเพิ่มเติมประมวลกฎหมายยาเสพติดขึ้นใน มาตรา ๑๒๓/๑ ๒) กรณีมาตรการสงเคราะห์ภายหลังปล่อย ควรกำหนดให้มีมาตรการสงเคราะห์ภายหลังปล่อย ด้วยวิธีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจ้างงานผู้พ้นโทษภายหลังปล่อยตามแบบอย่างของรัฐบัญญัติว่าด้วยการให้โอกาส ค.ศ. ๒๐๐๗ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการเพิ่มเติมมาตรการสงเคราะห์ภายหลังปล่อยผู้ค้ายาเสพติดขึ้นในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา ๑๒๓/๒
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
กรมราชทัณฑ์. “คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ เอกสารองค์การสหประชาชาติ E/CN.15/2015/L.6/Rev.ภาคผนวก ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง”. United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) (ข้อกำหนดแมนเดลลา - Mandela Rules, พ.ศ. ๒๕๕๘.
พยนต์ สินธุนาวา. “บทบาทและหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติด้านการสืบเสาะและพินิจ”. เอกสารประกอบผลงานเรื่องที่ ๑. กรมคุมประพฤติ: กระทรวงยุติธรรม, ๒๕๕๕.
ศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธุ์. “แนวทางการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ และสงเคราะห์ผู้พ้นโทษในประเทศไทย”. วารสารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม–ธันวาคม.
สุพิชฌาย์ ศิริวัฒนา สีตะสิทธิ์. “แนวทางที่เหมาะสมในการลงโทษและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดซ้ำในกระบวนการยุติธรรมไทย”. ดุษฎีนิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต. คณะนิติศาสตร์: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
กรมราชทัณฑ์. “ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.correct.go.th [๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕].
กรมราชทัณฑ์. “คำแปลของข้อกำหนดกรุงเทพ”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.correct.go.th [๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕].
คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ ๑/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๓. “เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเฉพาะกิจ เพื่อเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญของผู้พ้นโทษที่มีลักษณะพิเศษ”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://resolution.soc.go.th [๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖].
คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ ๒๕/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๓. “เรื่องจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://resolution.soc.go.th [๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖].
ไทยรัฐออนไลน์. “สมศักดิ์เร่งดันกฎหมายติดตามพฤติกรรมผู้พ้นโทษ ถอดโมเดลออสเตรเลีย อเมริกา”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.thairath.co.th [๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖].
นริศร์ พรรณพัฒน์. “กฎหมายบังคับโทษ : ปัญหาเกี่ยวกับการสงเคราะห์หลังปล่อย”. วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชานิติศาสตร์: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://grad.dpu.ac.th [๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕].
สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด. “สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.oncb.go.th [๙ ธันวาคม ๒๕๖๕].
หนังสือสำนักงานกิจการยุติธรรม ที่ ยธ ๐๙๑๐/๕๔๖ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๓. “เรื่องแจ้งคำสั่งและแนวทางในการดำเนินงานศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://resolution.soc.go.th [๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖].
BBC News ไทย. “ยาเสพติด: ไทยแชมป์จับยาบ้า-ไอซ์ มากที่สุดในเอเชียตะวันออกและอาเซียนในปี ๒๐๒๑”. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-61633388 [๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕].