เรามักได้ยินสำนวนไทยที่ว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" การรู้เห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยตาตัวเองจะทำให้เข้าใจเรื่อง ๆ นั้นได้ดีกว่าการฟังจากคำบอกเล่าของผู้อื่น และการเห็นภาพจะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้ดีกว่าการพูดหรือคำบรรยายหลาย ๆ คำ ดังคำพูดที่ว่า "ภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพัน" หรือในภาษาอังกฤษที่ว่า "A picture is worth a thousand words" ภาพบทคัดย่อหรือบทคัดย่อกราฟิกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของบทความโดยไม่ต้องใช้ข้อความหรือคำบรรยายหลาย ๆ คำ ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจประเด็นสำคัญของบทความได้อย่างรวดเร็วและชัดเจนมากขึ้น

 

บทคัดย่อกราฟิก

บทคัดย่อกราฟิก คือ ภาพแสดงข้อค้นพบสำคัญเช่นเดียวกับบทคัดย่อของบทความ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจประเด็นสำคัญของบทความได้อย่างรวดเร็ว สร้างความสนใจและเพิ่มโอกาสในการเปิดอ่านบทความฉบับเต็ม ดังนั้น ผู้เขียนจึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจการออกแบบบทคัดย่อกราฟิกเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือ ประตูสู่งานของคุณ

 

การจัดทำบทคัดย่อกราฟิก

การออกแบบบทคัดย่อกราฟิกผู้เขียนต้องจัดทำด้วยตนเอง ผ่านการพิจารณาตรวจสอบและแก้ไขจากกองบรรณาธิการวารสารเพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้การจัดทำบทคัดย่อกราฟิกจะเริ่มต้นหลังจากกองบรรณาธิการแจ้งผลการพิจารณาบทความ โดยผู้เขียนต้องส่งบทคัดย่อกราฟิกพร้อมกับบทคัดย่อที่ปรุงปรับคุณภาพแล้วมายังกองบรรณาธิการวารสาร

 

แนวทางการจัดทำบทคัดย่อกราฟิก

1. ระบุประเด็นสำคัญหรือผลลัพธ์ 1-3 ประเด็นในบทความ

2. สร้างพื้นที่สำหรับจัดวางองค์ประกอบเนื้อหาในแต่ละประเด็นสำคัญ ผู้เขียนอาจใช้ต้นแบบบทคัดย่อกราฟิกของวารสาร

3. เพิ่มชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียน และประเด็นสำคัญลงในต้นแบบบทคัดย่อกราฟิก

4. เพิ่มภาพ ไอคอน และรูปสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดแต่ละประเด็น ผู้เขียนต้องแน่ใจว่าภาพ ไอคอน และรูปสัญลักษณ์ที่ใช้ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหรือสามารถใช้ได้ตามสัญญาอนุญาตแบบเปิด (Creative Commons) กองบรรณาธิการจะปฏิเสธภาพที่มีลิขสิทธิ์

5. ตรวจสอบความถูกต้องของบทคัดย่อกราฟิก

 

คุณสมบัติของบทคัดย่อกราฟิก

1. ภาษา: ภาษาอังกฤษ

2. ขนาดภาพ: ไม่น้อยกว่า 1280x720 พิกเซล และความละเอียดไม่น้อยกว่า 96 dpi

3. สัดส่วนภาพ: Widescreen (16:9)

4. แบบอักษร: Arial ตัวอักษรควรมีขนาดใหญ่พอ (12-18 pt) เนื่องจากภาพจะถูกลดขนาดลงสำหรับแสดงผลในเว็บไซต์

5. ประเภทไฟล์: TIFF, PDF หรือ PowerPoint Presentation