Archives - Page 4
-
สถานการณ์สุขภาพใหม่: การท้าทายวิธีคิดและการศึกษาทางสังคมศาสตร์
Vol. 20 No. 1 (2008)การก่อกำเนิดของศาสตร์ทางสังคมและสุขภาพในไทยที่มีอายุกว่า 30 ปีน่าจะเป็นประเด็นที่นักสังคมศาสตร์สุขภาพนำมาใคร่ครวญถึงแนวทางและ “ที่ยืน” ของตนเองในพื้นที่การศึกษาเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซับซ้อน และไม่อาจคาดการณ์ทั้งในรูปแบบและทิศทางของการเปลี่ยนแปลง “สังคมศาสตร์สุขภาพ: การท้าทายวิธีคิดและแนวทางการศึกษา” จึงถูกกำหนดขึ้นเป็นหัวข้อ (theme) ของวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ ที่สะท้อนทั้งความหลากหลายในประเด็นการศึกษา ทฤษฎี และแนวทางในการอธิบายจากมุมมองของนักสังคมศาสตร์สุขภาพไทย ด้วยตระหนักว่าวารสารไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพียงการสะท้อนแนวทางที่เกิดขึ้นเท่านั้น วารสารยังมีหน้าที่ในการเสนอแนวทาง ประเด็นในการศึกษาใหม่ๆ ด้วย เช่นเดียวกับนักวิชาการที่ไม่ได้มีหน้าที่เพียงการพัฒนาศาสตร์เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของสาขาวิชาการของตน “If sociological work predominantly (and increasingly) tends to inform only the academic discipline, one begins to wonder whether sociologists are just talking to themselves” (Clair et al.: 2007: 249)
-
ศาสนา ชาติพันธุ์ และการพัฒนาระดับภูมิภาคในเขตลุ่มน้ำโขง
Vol. 19 No. 2 (2007)วารสารสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับนี้ก็เช่นกัน ที่นอกจากจะปฏิเสธไม่ได้ถึงความสำคัญของ “ลุ่มน้ำโขงศึกษา”ยังเล็งเห็นว่า ท่ามกลางบรรยากาศทั้งในและนอกวงวิชาการที่ผู้คนในสังคมไทยให้ความสนใจไถ่ถามและติดตามเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตลุ่มน้ำโขง การเปิดพื้นที่ให้ได้มีการสำรวจทบทวนสืบสวนอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนเสนอทรรศนะเชิงวิชาการจากงานศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ เพื่อร่วมกระตุ้นและจุดประกายให้เกิดความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และความเป็นมาของผู้คน ชุมชน ชนชาติต่างๆ รวมจนถึงปัญหาที่อุบัติขึ้น หรือเป็นผลมาจากการพัฒนาระดับภูมิภาค นับว่าเป็นโอกาสสำคัญที่วารสารสังคมศาสตร์จะได้แสดงพันธกิจที่พึงมีต่อสังคม บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ต่างที่ต่างทาง อีกทั้งผู้เขียนแต่ละท่านต่างตั้งประเด็นปัญหาและมีมุมมองต่อประเด็นหัวข้อของตนอย่างเป็นเอกเทศ เนื้อหาของบทความเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องราวของ ชาวมุสลิมยูนนาน อาข่าในเมืองเชียงใหม่ รัฐบาลทหารพม่า ชาวบ้านในชุมชนสองฝั่งโขง แม่ค้าชาวอิสานและนักดนตรีลื้อในสิบสองปันนา หากมองแบบแยกส่วน ดูเหมือนว่าบทความแต่ละเรื่องจะไม่สอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ทว่าเมื่อพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวเหล่านั้นเข้าด้วยกัน แล้วลองอ่านใหม่ภายใต้บริบทของการพัฒนาระดับภูมิภาคดังที่ผมได้พยายามวาดภาพให้เห็นมาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าเรื่องราวต่างๆ ที่นำาเสนอผ่านบทความเหล่านี้ คือภาพบางส่วนของความแตกต่างหลากหลายที่ดำรงคงอยู่คู่กับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาอย่างยาวนาน เป็นภาพบางส่วนของประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์ ที่มักถูกมองข้าม ผ่านเลย หรือแม้แต่ “ทำเป็นไม่เห็น” เช่น กรณีของอาข่าในเมืองเชียงใหม่ (ในบทความของไพโรจน์ คงทวีศักดิ์) หรือการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมยูนนานในภาคเหนือของไทย ภายใต้บริบทประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำโขงตอนบนนับจากกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา (ในบทความของสุชาติ เศรษฐมาลินี) และอีกทั้งยังเป็นภาพบางส่วนของการเคลื่อนไหวโต้ตอบทั้งในระดับรัฐ (ในบทความของ ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร) และการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนระดับชุมชนท้องถิ่น (ในบทความของ ยศ สันตสมบัติ) ต่อการเคลื่อนตัวของทุนโลกาภิวัตน์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยุคหลังสังคมนิยม เป็นภาพบางส่วนของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของ “ระบอบเศรษฐกิจใหม่” (ในบทความของ พฤกษ์ เถาถวิล) และเป็นภาพบางส่วนของการเมืองวัฒนธรรมของชนชาติส่วนน้อยในยูนนานที่ก่อตัวขึ้นมาได้ก็ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาระดับภูมิภาค (ในบทความของ วสันต์ ปัญญาแก้ว) ที่เชื่อแน่ว่ายังไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างหรือถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์จริงจัง ภาพบางส่วน (ข้างต้น) ที่ปรากฏอยู่ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ คงไม่อาจแก้กระหายความสนใจใคร่รู้ที่เราท่านมีเกี่ยวกับเรื่องราวของ “แม่น้ำโขง” ทว่าก็น่าจะเพียงพอที่จะกระตุ้นต่อเติมให้เกิดการถกเถียง ค้นคว้าศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของผู้คนชุมชน ชนชาติต่างๆ ที่อาศัยใช้ชีวิตพัวพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้
-
มนุษยวิทยา อุษาคเนย์และชาร์ลคายส์
Vol. 19 No. 1 (2007)วารสารสังคมศาสตร์ ฉบับพิเศษนี้รับอาสาทำหน้าที่จุดประกาย ถ่ายทอดและเปิดเวทีความคิดเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ “มรดกวิชาการของอาจารย์คายส์” ในภาคภาษาไทยสำหรับนักวิชาการ นักเรียนนักศึกษาและผู้อ่านในแวดวงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของบ้านเรา บรรดาเพื่อนนักวิชาการร่วมสมัยและลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ตระหนักดีว่า อาจารย์คายส์ตีพิมพ์ผลงานของท่านในภาษาอังกฤษเป็นหลัก ข้อเขียนวิชาการของท่านครอบคลุมปริมณฑลองค์ความรู้ด้านไทยศึกษาและมานุษยวิทยาว่าด้วยเอเชียอาคเนย์ศึกษาอย่างลุ่มลึกและกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาคภาษาไทยอย่างที่ควรจะเป็น ในวัฒนธรรมวิชาการของบ้านเรานั้น การแปลข้อเขียนวิชาการจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่สุดแสนจะ “แล้งเข็ญและกันดาร” ข้อเขียนของอาจารย์คายส์ทั้งที่ตีพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือเล่ม รายงานการวิจัย และบทความในวารสารวิชาการหรือหนังสืออ้างอิงต่างๆ จึงเป็นที่รับรู้กันเฉพาะในแวดวงจำกัด ทั้งยังไม่ได้รับการตรวจสอบหรือประเมินค่าทางวิชาการอย่างจริงจังในวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของประเทศไทย
-
ผู้หญิงประสบการณ์และการเมืองว่าด้วยเพศภาวะ
Vol. 18 No. 1 (2006)วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ทำหน้าที่ในการสื่อสารเสียงและประสบการณ์อันแตกต่างของผู้หญิง จากหลายบริบทของสังคมไทย ที่ไม่ได้วางตัวเองอยู่บนเส้นแบ่งเขตของความแตกต่างทางเพศที่ถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่อย่างแน่นอนและเฉพาะเจาะจง หากประสบการณ์เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของข้อพิสูจน์ความเป็นหญิง ข้อพิสูจน์นั้นย่อมไม่ใช่ข้อพิสูจน์ความจริงอันสัมบูรณ์ และเป็นสากล หากแต่เป็นการทำงานของอุดมการณ์ที่หล่อหลอมความเป็นตัวตนของบุคคล และความเป็นเพศ ภายในบริบทและเงื่อนไขเฉพาะหนึ่งๆ สตรีนิยมมักเชื่อว่าบุคคลและประสบการณ์ของบุคคลโดยตัวของมันเองเป็นหรือมีนัยยะทางการเมือง โดยลืมไปว่า บ่อยครั้งที่การเมืองนั้นๆ ถูกสร้างอยู่บนบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่อยู่นอกเหนือตัวประสบการณ์นั้นๆ เอง เพศภาวะและการเมืองของเพศภาวะจึงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถจำกัดนิยามและคำจำกัดความได้อย่างคงที่และถาวรนอกบริบทสังคมวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง หากแต่บริบททางสังคมและการเปลี่ยนแปลงต่างหากที่ทำให้ความเป็นเพศและเพศภาวะมีนัยยะและความหมายอันหลากหลายและไม่หยุดนิ่ง พลวัตของการเมืองว่าด้วยเพศภาวะในหลากหลายบริบทนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นชีพจรของการสะท้อนคิดที่สำคัญของขบวนการสตรีนิยมในยุคปัจจุบัน