Archives - Page 3

  • ศาสนากับการเมืองอัตลักษณ์
    Vol. 26 No. 1 (2014)

    บทความในวารสารฉบับนี้ทั้งหมดเป็นผลจากงานวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาในบริบทโลกาภิวัฒน์ ส่วนหนึ่งเป็นการศึกษาศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์เขตลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่งานวิจัยของ Haiying Lee เกี่ยวกับกลุ่มอาข่า งานของประสิทธิ์ ปรีชา เกี่ยวกับกลุ่มม้ง งานเรื่องกลุ่มไทใหญ่ของ Khamindra Phorn และงานของ สมัคร์ กอเซ็ม เกี่ยวกับกลุ่ม “ชาวเขา” นอกจากนี้ยังมีอีก 2 บทความ ได้แก่ บทความ ของ Sawako Fujiwara ซึ่งศึกษาวาทกรรมด้านเทววิทยาของศาสนาจารย์หญิงคนไทยที่มีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาระดับเอเชีย และบทความของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ที่อธิบายข้อถกเถียงในเรื่อง แนวทางการศึกษามานุษยวิทยาแบบอิสลาม บทความทั้ง 6 นี้ เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของศาสนาหลักของโลกทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามในบริบทโลกาภิวัฒน์ ในขณะเดียวกัน บทความของ Haiying Lee ได้อธิบายถึงการประดิษฐ์ประเพณีใหม่ของความเชื่อดั้งเดิม (Neo-Traditionalism) เมื่อมีการปะทะประสานกับศาสนาที่ใหญ่กว่า นอกเหนือจากบทความทั้ง 6 แล้ว ในท้ายวารสารยังมีบทแนะนำหนังสือของพิสิษฐ์ นาสี ที่ได้แนะนำหนังสือ เรื่อง Mediums, Monks, & Amulets: Thai Popular Buddhism Today ของพัฒนา กิตติอาษา ซึ่งเขาเขียนไว้ก่อนจะอำลาจากโลก

    คำถามหลักร่วมกันในบทความเหล่านี้ก็คือ สภาพแวดล้อมของโลกาภิวัฒน์ ส่งผลกระทบต่อศาสนาอย่างไร ศาสนาปรับตัวอย่างไรในโลกาภิวัฒน์ ศาสนา เกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในโลกาภิวัฒน์อย่างไร

  • พหุวัฒนธรรม
    Vol. 25 No. 2 (2013)

    ในแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ภูมิภาค หรือนานาชาติ ย่อมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อยู่ในตัวเองเพียงแต่ว่าในแต่ละยุคสมัยนั้นความหลากหลายดังกล่าวจะถูกละเลย ถูกผสมกลมกลืน หรือได้รับการส่งเสริมให้เป็นที่ปรากฏเด่นชัดในสังคมหรือไม่และอย่างไร กรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้จะประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ (ดูตัวอย่างในงานเขียนของจิตร, 2535; จิตรสิงห์, 2554; บุญช่วย,2547; องค์, 2553) แต่ในยุคของการสร้างชาติที่เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มาจนถึงสิ้นยุคสงครามเย็น ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยได้ถูกลดความสำคัญลงไป ดำวยอิทธิพลของนโยบายชาตินิยมของรัฐชาติไทยที่เน้นการสร้างวัฒนธรรมและเอกลักษณ์หนึ่งเดียวที่เป็น “วัฒนธรรมแห่งชาติ”เป็นหลัก (สายชล, 2551) จนทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกผสมกลมกลืนและลดทอนความสำคัญลงไป แม้ในยุคที่รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่น และอัตลักษณของกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการส่งเสริมให้ปรากฏต่อสาธารณะมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงเพื่อการแสดงและการค้ามากกว่าการให้สิทธิและเคารพในความเสมอภาคของกลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในประเทศ ยิ่งในยุคที่มีการเปิดเผยตัวตนของคนหลากหลายทางเพศและการอพยพเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยแล้ว กลุ่มวัฒนธรรมดังกล่าวแทบจะไม่มีพื้นที่ทางสังคมในประเทศไทยเลย ดังจะสังเกตได้จากการที่ความรู้สึกเกลียดชังและไม่ไว้วางใจคนเหล่านี้ยังมีให้เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ในระดับรัฐบาลก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนกับการส่งเสริมนโยบายพหุวัฒนธรรมนิยม

     

    ในระดับนานาชาติก็เช่นเดียวกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงดูถูกเหยียดหยามตั้งแต่ยุคการล่าอาณานิคมที่คนผิวขาวเจ้าอาณานิคมมีเหนือกว่ากลุ่มวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ภายใต้การปกครองดังกรณีของชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และอาฟริกา เป็นต้น ปัญหาการดูถูกทางวัฒนธรรมและเหยียดหยามเชิงชาติพันธุ์ดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่ฮิตเลอร์ได้ทำการฆ่าลางเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภายหลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้รับการจัดตั้งขึ้น ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เน้นการให้ความเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้รับการผลักดันให้เป็นหนึ่งในแผนงานหลัก นอกจากนั้นแล้ว ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเคลื่อนย้ายของผู้คน โดยเฉพาะแรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยสงคราม ข้ามเส้นแบ่งพรมแดนรัฐชาติ (ทั้งถูกและผิดกฎหมาย) ยังนำมาซึ่งประเด็นการเรียกร้องให้รัฐบาลที่ประเทศปลายทางรับรองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ของพวกเขาด้วย ดังนั้น รัฐบาลในประเทศอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย อเมริกา และประเทศอื่นๆ ในยุโรป จึงกำหนดให้มีนโยบายที่เน้นความเป็นพหุวัฒนธรรมนิยมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แต่เนื่องด้วยบริบททางประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นพหุวัฒนธรรมนิยมในแต่ละประเทศจึงประสบความสำเร็จในระดับที่แตกต่างกันออกไปด้วย ในที่นี้ ผู้เขยนจึงขอนำเสนอประเด็นความหมายของพหุวัฒนธรรมนิยม กระบวนทัศน์ในการศึกษาพหุวัฒนธรรมนิยมในทางสังคมศาสตร์ และตัวอย่างของพหุวัฒนธรรมนิยมในประเทศต่างๆ

  • ชาวนาใต้กระแสทุน
    Vol. 25 No. 1 (2013)

    ข้อมูลและบทวิเคราะห์ในบทความต่างๆ ในวารสารฉบับนี้ ได้ชี้ให้เห็นประเด็นกระบวนการการผลิตที่ทุนได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดมากขึ้นมีการควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปรับเปลี่ยนการผลิตในไร่นาให้ กลายเป็นโรงงานผลิตสินค้าเกษตร โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเกษตรกรในการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน โดยที่เกษตรกรรายย่อยยังคงเป็นเจ้าของที่ดินที่ตนเองเป็นผู้ควบคุมกระบวนการการผลิตภายใต้กำกับของทุน อย่างไรก็ตาม บทความเหล่านี้เป็นกรณีศึกษาเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น แต่ยังไม่ได้แตะประเด็นไปที่การปรับโครงสร้างในภาคกลางและในภาคใต้ รวมทั้งยังมิได้แตะประเด็นเรื่องนโยบายของรัฐต่อภาคเกษตรกรรมและชนบท

    บทความต่างๆ ในวารสารฉบับนี้มิใช่ข้อสรุปที่ตอบโจทย์เรื่องการปรับโครงสร้างชนบท แต่ถือเป็นการจุดประกายให้นักศึกษาชนบทได้มีข้อมูลเปรียบเทียบเชิงปรากฏการณ์ ในการครุ่นคิดประเด็นปัญหาการปรับโครงสร้างชนบท รวมทั้งนโยบายของรัฐที่เหมาะสมได้ต่อไป

  • Deterritorializing Thai-Burma Borderlands
    Vol. 24 No. 1-2 (2012)

    บทความส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้เป็นผลงานวิจัยที่ทำในบริเวณพรมแดนไทย-พม่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่ ใช้คำเรียกพื้นที่ว่าพื้นที่พรมแดน (Frontier) หรืออาณาบริเวณชายแดน (Borderlands) ซึ่งไม่ได้หมายถึงพื้นที่ตรงบริเวณเส้นเขตแตนเท่านั้น แต่ครอบคลุมบริเวณที่ห่างออกไปจากเส้นเขตแตนมากน้อยตามความสัมพันธ์ของผู้คน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อันเป็นเสมือนพื้นที่เดียวกันตามความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีมายาวนานก่อนการขีดเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐชาติ อย่างไรก็ดี พื้นที่ของงานวิจัยในบทความส่วนใหญ่ อยู่บริเวณพรมแดนสองฝั่งแม่น้ำเมย ซึ่งในเขตประเทศไทยอยู่ในเขตอำเภอ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด และพบพระ ของจังหวัดตาก ส่วนในเขต ประเทศพม่าอยู่ในเขตรัฐกะเหรี่ยง งานส่วนใหญ่ศึกษาที่อำเภอแม่สอดและบริเวณอำเภอข้างเคียง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าบริเวณชายแดนมาตั้งแต่อดีต ก่อให้เกิดการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์และศาสนา ในปัจจุบันความสำคัญในลักษณะของการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนยิ่งเพิ่มมากขึ้น จากการเป็นด่านชายแดนระหว่างประเทศที่เป็นทางการที่มีไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่นี่ มีมูลค่าการค้าขายสินค้าข้ามแดนสูงปีละหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ ปี 2547 ที่เน้นการส่งเสริมการลงทุน ทำให้จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแรงงานย้ายถิ่นที่ข้ามมาจากประเทศพม่าจำนวนกว่าสองแสนคนทั้งที่ทำงานโรงงานและในภาคเกษตรกรรม ภาคบริการและรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ หลายบทความยังเป็นผลจากการทำวิจัยในพื้นที่พักพิงผู้หนีภัย จากการสู้รบแห่งหนึ่งในหลายแห่งที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนเขตไทย

  • ความรัก
    Vol. 23 No. 1-2 (2011)

    ความรักในฐานะมิติหนึ่งของอารมณ์ เป็นห้วข้อที่ถูกเบียดขับออกจากทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ในโลกตะวันตกมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ด้วยอิทธิพลของประเพณีทางแนวคิดแบบ Cartesianism ซึ่งเหยียดอารมณ์ว่าเป็นเพียงประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ปราศจากเหตุผล เป็นความรู้สึกที่จับต้องไม่ได้ และไม่มีพลังพอในการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้นจึงไม่ควรค่าแก่การใส่ใจหรือสนใจ ประเด็นเรื่องความรักและอารมณ์ความรู้สึกไม่ปรากฏในทฤษฎีทางสังคมวิทยาคลาสสิก ไม่ว่าจะในมโนทัศน์ว่าด้วยความชอบธรรม สถานภาพและบารมีของเวเบอร์ ในทฤษฎีว่าด้วยความสามัคคี และพลังทางศีลธรรมของเดอร์ไคม์ในทฤษฎีว่าด้วยความแปลกแยก  จิตสำนึกทางชนชั้นของมาร์กซ์และเองเกลส์ หรือกระทั่งในงานทางมานุษยวิทยาคลาสสิกของมาร์กาเร็ต มีด ว่าด้วยความคิดของปัจเจกบุคคลก็ตาม การศึกษาเรื่องอารมณ์ โดยเฉพาะความรักจึงได้กลายไปเป็นธุระของนักจิตวิเคราะห์ไป

  • ตลาดกับชาติพันธุ์
    Vol. 22 No. 2 (2010)

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับ “ตลาดกับชาติพันธุ์” เป็นฉบับที่ประกอบไปด้วยบทความที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 บทความ ได้แก่บทความเรื่อง “ปฏิภาคภาวะของพรมแดนชาติพันธุ์และรัฐชาติในตลาดเมืองชายแดนแม่สอด” โดย สมัคร์ กอเซ็ม บทความเรื่อง “การเดินทางของแม่ค้าเสื้อแดง: จากตลาดสู่การเมืองบนท้องถนน” โดย นพพล อาชามาส บทความเรื่อง “แรงงานต่างด้าว : มิติทางเพศภาวะและประสบการณ์ทางสังคมของแรงงานผู้หญิงไทใหญ่” โดย สุนทรีย์ เรือนมูล บทความเรื่อง “อาหารไทใหญ่: เส้นทางการเคลื่อนที่และพื้นที่ทางสังคมในเมืองเชียงใหม่” โดยบุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล บทความเรื่อง “ตลาดกับชาติพันธุ์ กำเนิดและลีลาของเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ ” โดย ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ และบทความเรื่อง “โฮมสเตย์บ้านยะดู : การซื้อขายชิวิตประจำวัน บ้านของชาวลาหู่และการสร้างภาพตัวแทนทางชาติพันธุ์” โดย สาริณีย์ ภาสยะวรรณ

  • วัยรุ่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม
    Vol. 22 No. 1 (2010)

    บทความต่างๆ ที่รวมตีพิมพ์อยู่ในวารสารสังคมศาสตร์ ฉบับพิเศษ:วัยรุ่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม เล่มนี้ ถือเป็นความพยายามที่จะเปิดพรมแดนความรู้และนำเสนองานศึกษาเกี่ยวกับวัยรุ่น/วัฒนธรรมวัยรุ่น ตลอดจนวิธีการศึกษาในมิติใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องโยงใยไปกับชีวิตวัยรุ่นและวัฒนธรรมสมัยนิยม เนื้อหาของบทความและงานศึกษาวิจัยที่รวมตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่ (1) แนวคิดทฤษฎีและวิธีการศึกษาวัยรุ่นและวัฒนธรรมสมัยนิยมที่รวบรวมสังเคราะห์ขึ้นมาพอสังเขปโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (2) งานศึกษาชีวิตวัฒนธรรมของวัยรุ่นกลุ่มต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ (ในแนวมานุษยวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา) ที่ไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องของวัยรุ่นจากเขตชนบท ทว่ายังมีเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาม้ง และเยาวชนปกาเกาะญอ (ในบทความของ Anjalee Cohen, มยุรินทร์ บุญพิทักษ์ และจุไรพร จิตพิทักษ์ตามลำดับ) รวมจนไปถึง (3) เรื่องของแฟนคลับทีมสโมสรฟุตบอลในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สังคมหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในแวดวงวัยรุ่นศึกษา (ในบทความของสายชล ปัญญชิต) และ (4)เรื่องของสื่อสมัยใหม่ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับชีวิตประจำวันของเยาวชนคนหนุ่มสาว ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่กล้องวิดิโอที่กลายเป็นอุปกรณ์ผลิตสารคดีชุมชนของ “กลุ่มละอ่อนยอง” (ในบทความของอภินันท์ ธรรมเสนา) อุปกรณ์ดนตรีที่เป็นทั้งเครื่องมือหากินและสิ่งประดิษฐ์สร้างพื้นที่ทางสังคมแห่งการต่อรองต่อต้านในบริบทของอุตสาหกรรมบันเทิง (ในบทความของอธิป จิตตฤกษ์) และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่ทั้งอุตสาหกรรมเพลงและสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทปฏิทินและนิตยสาร กลายเป็นพื้นที่แห่งการสถาปนาอำานาจภาพลักษณ์ และความงามของหญิงสาวในสังคมลาวยุคหลังสังคมนิยม (ในบทความของ Warren Mayes) แน่นอนว่า เนื้อหาต่างๆ จากงานเขียนที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ คงไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในมิติอื่นๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการศึกษาชีวิตวัฒนธรรมของวัยรุ่น (ดังที่ได้พยายามทบทวนมาพอสังเขปข้างต้น) ทว่าก็ถือเป็นการพยายามบุกเบิกครั้งสำคัญที่จะขยายพรมแดนความรู้ทางด้าน “วัยรุ่นศึกษา” ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางจริงจังในแวดวงสังคมศาสตร์ไทย

  • พื้นที่ ตัวตน สังคม
    Vol. 21 No. 2 (2009)

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้นำเสนอบทความเกี่ยวกับพื้นที่ สังคมและความเป็นตัวตน เนื่องจากสังคมศาสตร์ในปัจจุบันให้ความสนใจเรื่องพื้นที่และสถานที่อย่างมาก สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งเคยสนใจสังคมและวัฒนธรรมเป็นหลักและพื้นที่เป็นเรื่องรอง ตอนนี้ก็หันมาสนใจกระบวนการทางพื้นที่มากขึ้น (Spatial Turn) (Walf and Arias,2009) โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทางสังคม ส่วนภูมิศาสตร์มนุษย์สนใจแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ (Space) สถานที่ (Place) ทำเลที่ตั้ง (Location) และระดับพื้นที่ (Scale) มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา นักภูมิศาสตร์หันมาสนใจกระบวนการทางวัฒนธรรมมากขึ้น (Cultural Turn) เช่น การสร้างภาพตัวแทนทางพื้นที่ การเมืองเรื่องวัฒนธรรม การเมืองเชิงอัตลักษณ์ เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเอื้ออำนวยต่อการศึกษาในลักษณะข้ามสาขาวิชามากขึ้น

  • ภูมิศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงในล้านนา
    Vol. 21 No. 1 (2009)

    วารสาร “สังคมศาสตร์” ฉบับนี้ ได้กำหนดหัวข้อหลักว่าด้วยเรื่อง “ภูมิศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงในล้านนา” ซึ่งประกอบไปด้วยบทความที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก “เมืองคืออะไร ฤาเป็นคำถามที่ไร้สาระ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ เรื่องที่สอง “ลำดับชั้นของชุมชนโบราณสมัยล้านนาในพื้นที่เชียงใหม่ - ลำพูนช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - 22” โดย เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์ เรื่องที่สาม “บ้านเวียงเชียงใหม่ การสร้างบ้านและความเป็นถิ่นฐานของชนชั้นกลางในสังคมเมืองเชียงใหม่” โดย สุทธินี บิณฑวิหค เรื่องที่สี่ “พลวัตการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณเมืองเชียงใหม่และการคาดการณ์ความเป็นเมืองในอนาคตด้วยโมเดล SLEUTH” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมพร สง่าวงศ์ เรื่องที่ห้า “การเคลื่อนไหวของประชาสังคมในเมืองเชียงใหม่ ต่อประเด็นปัญหาที่เกิดจากความเป็นเมือง ระหว่างปี พ.ศ. 2540-พ.ศ.2551” โดย กานต์ชนก ประกาศวุฒิสาร เรื่องที่หก ยุทธศาสตร์ของชาวบ้านในการพัฒนาเกษตรกรรมและการใช้ที่ดิน: กรณีศึกษาบ้านศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดย สิริวรรณ สิรวณิชย์ และเรื่องสุดท้าย “The Transition in Cartography” โดย ฐานิกา ปัญจรัตน์

  • ข้ามพรมแดนความรู้แห่งสังคมศาสตร์ไทย: 60 ปี อานันท์ กาญจนพันธุ์
    Vol. 20 No. 2 (2008)

    วารสารสังคมศาสตร์ฉบับพิเศษนี้ ขอแสดงมุทิตาจิตในทางวิชาการแด่อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ด้วยการทำหน้าที่ในการประมวลแนวคิดและคุณูปการทางวิชาการที่อาจารย์อานันท์มีต่อวงการวิชาการไทยในด้านต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 4 ทศวรรษ บทความหลัก 9 เรื่องในวารสารฉบับนี้ ได้ถูกคัดเลือกจากงานที่เขียนขึ้นโดยกัลยาณมิตรทางวิชาการ ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหา โดยที่ 8 เรื่องนั้น ปรับปรุงจากบทความที่ได้มีการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการ “ข้ามพรมแดนความรู้แห่งสังคมศาสตร์ไทยสัมมนาวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในวาระที่เกษียณอายุราชการ 60 ปี” ในระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม 2551ณ โรงแรมดิอิมพีเรียลเชียงใหม่รีสอร์ท อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กองบรรณาธิการประจำฉบับขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ยศ สันตสมบัติ ในฐานะประธานผู้จัดงาน หน่วยงานสนับสนุนงานสัมมนาวิชาการทั้งสามหน่วยงานคณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตลอดจนนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ช่วยกันผลักดัน ให้เวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการทั้งสองวันดำเนินไปด้วยดี

21-30 of 34