Vol. 19 No. 1 (2007): มนุษยวิทยา อุษาคเนย์และชาร์ลคายส์
วารสารสังคมศาสตร์ ฉบับพิเศษนี้รับอาสาทำหน้าที่จุดประกาย ถ่ายทอดและเปิดเวทีความคิดเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ “มรดกวิชาการของอาจารย์คายส์” ในภาคภาษาไทยสำหรับนักวิชาการ นักเรียนนักศึกษาและผู้อ่านในแวดวงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของบ้านเรา บรรดาเพื่อนนักวิชาการร่วมสมัยและลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ตระหนักดีว่า อาจารย์คายส์ตีพิมพ์ผลงานของท่านในภาษาอังกฤษเป็นหลัก ข้อเขียนวิชาการของท่านครอบคลุมปริมณฑลองค์ความรู้ด้านไทยศึกษาและมานุษยวิทยาว่าด้วยเอเชียอาคเนย์ศึกษาอย่างลุ่มลึกและกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาคภาษาไทยอย่างที่ควรจะเป็น ในวัฒนธรรมวิชาการของบ้านเรานั้น การแปลข้อเขียนวิชาการจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่สุดแสนจะ “แล้งเข็ญและกันดาร” ข้อเขียนของอาจารย์คายส์ทั้งที่ตีพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือเล่ม รายงานการวิจัย และบทความในวารสารวิชาการหรือหนังสืออ้างอิงต่างๆ จึงเป็นที่รับรู้กันเฉพาะในแวดวงจำกัด ทั้งยังไม่ได้รับการตรวจสอบหรือประเมินค่าทางวิชาการอย่างจริงจังในวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของประเทศไทย