การพัฒนารูปแบบการจัดการความขัดแย้งของบุคลากรทางการพยาบาล โรงพยาบาลพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย

ผู้แต่ง

  • Sarapee Noppakun
  • Renukar thongkhamrod
  • Seenual Sadhitwithayanan

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการณ์ความขัดแย้ง พัฒนารูปแบบการจัดการความขัดแย้ง และประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการความขัดแย้งของบุคลากรทางการพยาบาล โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จังหวัดเชียงราย

กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรของโรงพยาบาลพญาเม็งราย จำนวน 12 คน เลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล รองหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล หัวหน้างาน รองหัวหน้างาน หัวหน้างานเวชปฏิบัติและครอบครัว หัวหน้างานเภสัชกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 3 ส่วน ได้แก่ 1) แนวคำถามกึ่งโครงสร้างในการสนทนากลุ่ม เกี่ยวกับการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง 2) รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง และ 3)             แบบวัดความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยใช้กรอบแนวคิดในการพัฒนารูปแบบของสมชาติ โตรักษา (2548)

 ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรทางการพยาบาล ประกอบด้วย 8 ประเด็น ได้แก่  สัมพันธภาพระหว่างบุคลากรไม่ดี  ความไม่มั่นใจในการปฏิบัติงานเมื่อต้องหมุนเวียนไปปฏิบัติงานที่แผนกอื่น  การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบ ที่ไม่ชัดเจน ความไม่เท่าเทียมกันของภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ความไม่เป็นเอกภาพในทีมการพยาบาล แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ ปัญหาอื่นๆ รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ การมีทัศนคติที่ดีต่อความขัดแย้ง การมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความขัดแย้ง และกระบวนการจัดการความขัดแย้ง 5 ขั้นตอน  ภายหลังการทดลองใช้ รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติ มีความรู้ และมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการความขัดแย้งในภาพรวมในระดับมากที่สุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

28-05-2018

How to Cite