การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ด้วยศิลปะและภูมิปัญญาของชาวไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม
คำสำคัญ:
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ไทยทรงดำบทคัดย่อ
การวิจัยครั้ง นี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1.) เพื่อศึกษาภูมิปัญญาเกี่ยวกับศิลปกรรมท้องถิ่นประเภทผ้าทอของชุมชน ชาวไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม 2.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอโดยใช้หลักการของศิลปะจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนชาวไทยทรงดำจังหวัดนครปฐม และ 3.) เพื่อพัฒนาชุมชนปฏิบัติการเรียนรู้ทางด้านศิลปกรรมท้องถิ่นของชุมชนชาวไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบชุมชนมีส่วนร่วม และใช้ระเบียบวิธีวิจัย เชิงคุณภาพเป็นหลัก เพื่อสืบค้นข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการใช้หลักการของศิลปะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสานการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐมกับสังคมภายนอก ผู้วิจัยได้ดำเนินการในช่วงปี 2553-2554 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเฉพาะเจาะจงพื้นที่ผลิตศิลปกรรมท้องถิ่นประเภทผ้าทอของชุมชนชาวไทยทรงดำ ในจังหวัดนครปฐม ผลการวิจัยพบว่า 1) ภูมิปัญญาเกี่ยวกับศิลปกรรมท้องถิ่นประเภทผ้าทอของชุมชนชาวไทยทรงดำในจังหวัดนครปฐม มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ต่อมาหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดรูปทรงและลวดลายทำให้เกิดรูปแบบผ้าทอที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน 2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอนั้น ผู้วิจัยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำหลักการของศิลปะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้จำนวน 40 รูปแบบ ผ่านการประเมินคุณภาพด้วยผู้ทรงคุณวุฒิให้เหลือจำนวน 10 รูปแบบ แล้วทำการทดลองตลาดเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น และ 3)ในภาพรวมการวิจัยนี้ได้พัฒนาองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ โดยใช้การถ่ายทอดแบบชุมชนมีส่วนร่วม
References
นุกูล ชมพูนิช.(2552).ภูมิปัญญาท้องถิ่นนครปฐม.สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม.เพชรเกษมการพิมพ์.
ประเวศ วะสี.(2542).ชุมชนเข้มแข็ง ทุนทางสังคมไทย,พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนเพื่อสังคมและธนาคารออมสิน.
___________.2551.จุดเปลี่ยนประเทศไทย หัวใจคือชุมชน.กรุงเทพฯ: กรีนปัญญาญาณ ในเครือกลุ่มบริษัทกรีนมัลติมีเดีย.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.(2548).พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
เสน่ห์ จามริก.(2541).ศักยภาพของภูมิปัญญา.กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.