การฟื้นฟูการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยการอนุรักษ์และกิจกรรมการชงชาสมุนไพรรางแดงในชุมชนเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
คำสำคัญ:
สมุนไพรรางแดง, การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์, กิจกรรมการอนุรักษ์, กิจกรรมการชงชารางแดงบทคัดย่อ
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการฟื้นฟูการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยการอนุรักษ์และจัดกิจกรรมการชงชาสมุนไพรรางแดงในชุมชนเกาะเกร็ดหมู่ 2 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี งานวิจัยเริ่มตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มตัวอย่าง คือ ชาวชุมชนเกาะเกร็ด หมู่ 2 จำนวน 20 คน และนักท่องเที่ยว 30 คน ผู้วิจัยใช้แนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของคริสปิน เรมอนด์ และ เกร็ก ริชาร์ด เป็นกรอบความคิดในการทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในการฟื้นฟูชุมชนเกาะเกร็ด ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ คือ การสืบค้นข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสาร การสังเกตและปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาของชุมชนคือ การอนุรักษ์สมุนไพรรางแดง เนื่องจากรางแดงได้ลดจำนวนลงและอาจสูญพันธุ์ไปจึงส่งผลให้ชาวบ้านจัดการอนุรักษ์สมุนไพรรางแดงด้วยการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวร้อยละ 80 มีความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเดินชมสวนชารางแดง ดูการสาธิตและชิมชารางแดงที่มีกลิ่นหอม รางแดงเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ช่วยละลายไขมันใต้ผิวหนังให้ออกมาทางเหงื่อ ละลายไขมันในร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ ช่วยลดไข้ ลดน้ำหนัก ลดคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ช่วยขับปัสสาวะ แก้กษัยคลายเส้นเอ็นให้อ่อนตัวลง และลดความดันโลหิตสูง ชาวบ้านจัดสาธิตแนะนำการชงชาสมุนไพรรางแดง โดยเริ่มต้นใส่ใบชาลงในน้ำร้อนหรือน้ำต้มสุก ทิ้งไว้ 3-5 นาที การจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ชารางแดงเชิงสร้างสรรค์เป็นการท่องเที่ยวซึ่งมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้การอนุรักษ์สมุนไพรรางแดงซึ่งกันและกัน ช่วยให้ชาวบ้านตระหนักในคุณค่าของชุมชน และยังช่วยให้นักท่องเที่ยวได้พัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง ประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้
References
ธนกฤต ภัทร์ธราธร. (2556). การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด และคนอื่น ๆ. (2553). รายงานนวัตกรรมรายสาขาเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และเชิงสร้างสรรค์: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และคนอื่น ๆ. (2556). การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
Richards, Greg. (2010). Creative tourism and local development. In Creative Tourism, a global conversation: How to provide unique creative experiences for travelers worldwide, edited by R. Wurzburger, T. Aageson, A Pattakos and S. Pratt. Santa Fe, New Mexico: Sunstone Press.
Raymond, Crispin. (2010). What’s in a Name ?: The origine of the term ‘creative tourism’. In Creative Tourism, a global conversation: How to provide unique creative experiences for travelers worldwide, edited by R. Wurzburger, T. Aageson, A Pattakos and S. Pratt. Santa Fe, New Mexico: Sunstone Press