การพัฒนารูปแบบและโมดูลซอฟต์แวร์สำหรับประเมินและปรับพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านความรับผิดชอบทางการเรียนของผู้เรียนในสภาพแวดล้อมแบบอีเลิร์นนิ่ง

Main Article Content

ศิริชัย นามบุรี นามบุรี
นิดาพรรณ สุรีรัตนันท์
มนต์ชัย เทียนทอง

บทคัดย่อ

อีเลิร์นนิ่งเป็นระบบการเรียนการสอนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านอินเทอร์เน็ต ใช้ซอฟต์แวร์ระบบจัดการการเรียนรู้หรือ LMS เป็นเครื่องมือ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และควบคุมความก้าวหน้าทางการเรียนด้วยตนเอง ความสำเร็จทางการเรียนจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านความรับผิดชอบของผู้เรียนเป็นสำคัญ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  ศึกษาองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของพฤติกรรมความรับผิดชอบทางการเรียนของผู้เรียนในสภาพแวดล้อมแบบอีเลิร์นนิ่ง  สังเคราะห์และพัฒนาเป็นรูปแบบการประเมินและปรับพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านความรับผิดชอบทางการเรียน และนำรูปแบบที่ได้ไปสร้างโมดูลซอฟต์แวร์และทดลองติดตั้งทำงานร่วมกับ Moodle  LMS ขั้นตอนศึกษาเริ่มจากการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ทดลองติดตั้ง Moodle พร้อมสร้างรายวิชาและทดลองจัดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่ง  ศึกษาองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของพฤติกรรมความรับผิดชอบทางการเรียน   สังเคราะห์และพัฒนาเป็นรูปแบบประเมินและปรับพฤติกรรม  ประเมินรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ  และนำรูปแบบไปสร้างเป็นโมดูลซอฟต์แวร์ทำการทดลองติดตั้งทำงานร่วมกับMoodle  ในการศึกษาองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของพฤติกรรมความรับผิดชอบทางการเรียน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบวัดพฤติกรรมความรับผิดชอบกับกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเคยเรียนในระบบอีเลิร์นนิ่ง จำนวน 718 คน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า  ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (75.80%)  เป็นนักศึกษาชั้นปี 2  (43.30%)  และสังกัดคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตรมากที่สุด  (37.20%) ผู้เรียนส่วนใหญ่มีประสบการณ์เรียนในระบบอีเลิร์นนิ่งมาแล้ว 1 วิชา (37.30%)  มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ระดับพอใช้ (57.50%)  และมีความสะดวกในการใช้คอมพิวเตอร์พอสมควร (69.90%)  สำหรับความเห็นต่อวิธีการปรับพฤติกรรมพบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่เห็นว่าใช้วิธีการแจ้งเตือนหรือให้คำแนะนำ (52.60%) และรองลงมาคือการรายงานคะแนนเป็นระยะ (41.50%)  ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของพฤติกรรมความรับผิดชอบทางการเรียน พบว่าสามารถจำแนกได้ 4 ด้าน คือ 1) ด้านการตรงต่อเวลา มีน้ำหนัก 13.65%  2) ด้านความขยันหมั่นเพียร มีน้ำหนัก 12.52%  3) ด้านการเอาใจใส่ต่อการเรียน มีน้ำหนัก 11.05%  และ 4) ด้านการยอมรับผลงานตนเอง มีน้ำหนัก14.00%  ทั้ง 4 องค์ประกอบร่วมกันบ่งชี้ระดับพฤติกรรมความรับผิดชอบทางการเรียนได้  51.22%  แต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมความรับผิดชอบของผู้เรียนในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01   รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นโมดูลซอฟต์แวร์อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.52±0.16 เมื่อนำรูปแบบไปสร้างเป็นโมดูลซอฟต์แวร์ พบว่าสามารถติดตั้งทำงานร่วมกับ Moodle ได้สมบูรณ์ สามารถประมวลผลคะแนนพฤติกรรม แปลผลคะแนนเป็นระดับพฤติกรรม ให้ข้อแนะนำการปรับพฤติกรรมแก่ผู้เรียน และรายงานผลได้ถูกต้อง

Article Details

บท
บทความวิจัย