ศึกษาองค์ความรู้และกระบวนการสร้างการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง

Main Article Content

ณรงค์ ปัดแก้ว

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง ศึกษาองค์ความรู้และกระบวนการสร้างการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง” เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาองค์ความรู้ในการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (2) ศึกษากระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และ (3) เสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นจำนวน 28 คน และผู้ให้ข้อมูลในการสนทนากลุ่ม จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า องค์ความรู้ในการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พบว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 3 แห่ง จากวัดทั้ง 3 วัด ใน 3 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง ได้แก่ (1) วัดปงสนุกเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง (2) วัดไหล่หินหลวง ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา และ (3) วัดบ้านหลุก ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญา และองค์ความรู้ด้านการจัดการชุมชน นอกจากนี้ควรผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ สารสนเทศ กิจกรรมและประสบการณ์ต่าง ๆ ในชุมชนที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตามอัธยาศัย


กระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พบว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั้ง 3 แห่ง ได้มีกระบวนการสร้างและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน มีกระบวนการอนุรักษ์วัตถุโบราณ ด้วยการนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ และมีกระบวนการสร้างกติกา ข้อตกลง ข้อบังคับใช้ในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นเวลา บางแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุกเหนือ จะมีการสร้างกฎกติกาในการเข้าชมภาพพระบตของจริง ที่มีการเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปจะไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับชม เนื่องจากเกรงว่าพระบตจะเกิดความชำรุดเสียหาย จะอนุญาตให้เข้าชมเฉพาะหน่วยงานที่ต้องการศึกษาทำวิจัยเท่านั้น ซึ่งหากหน่วยงานใดต้องการเข้ารับชมภาพพระบต จะต้องทำหนังสือราชการแจ้งมาที่เจ้าอาวาส เป็นต้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่ง มีกระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป บางแห่ง มีกระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแบบไม่เป็นระบบ บางแห่งมีกระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นระบบ แต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในระบบอิเล็กทรอนิกส์


ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ ให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั้ง 3 แห่ง จากวัดทั้ง 3 วัด ใน 3 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง โดยคณะผู้วิจัยได้เสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนและพึ่งพาตนเอง 3 แนวทาง ได้แก่ (1) แนวทางการจัดการองค์ความรู้และกระบวนการจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (2) แนวทางการจัดหมวดหมู่ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และ (3) แนวทางการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในระบบอิเล็กทรอนิกส์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ฉลาด จันทรสมบัติ. “การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ขององค์กรชุมชน”. การศึกษาดุษฎีบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2548.

พระมหาสุนันท์ สุนนฺโท (รุจิเวทย์). “การพัฒนารูปแบบการจัดการศาสนสมบัติของวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2557.

พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมและนำเสนอข้อมูลพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ. [ออนไลน์] แหล่งที่มา : www.sac.or.th/museumdatabase/detail_museum [20 มีนาคม 2563].