วิเคราะห์เทวดาปูนปั้นเชิงพุทธศิลปกรรมในล้านนา

Main Article Content

อำนาจ ขัดวิชัย

บทคัดย่อ

               การศึกษาวิจัย “เรื่องวิเคราะห์เทวดาปูนปั้นเชิงพุทธศิลปกรรมในล้านนา” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดเทวดาในพระพุทธศาสนา 2)  เพื่อศึกษาการสร้างเทวดาปูนปั้นในพุทธศิลปกรรมล้านนา 3) เพื่อศึกษาวิเคราะห์เทวดาปูนปั้นเชิงพุทธศิลปกรรมในล้านนา


               แนวคิดเทวดาในพระพุทธศาสนา พบว่า เทวดา คือ สัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้กระทำกรรมที่เป็นกุศลแต่ครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดา มีความพิเศษในตัว ร่างกายงดงาม มีรัศมีสว่างไสวในยามที่ปรากฏกาย มีความสุข เล่นเพลิดเพลินสนุกสนานด้วยกามคุณทั้ง 5เทวดาจัดเป็นสัตว์ประเภทมีกายละเอียด ผุดเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัย พ่อแม่ แต่เกิดโดยอาศัยอดีตกรรม ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาจัดเทวดาอยู่จำพวกโอปปาติกะ คือสัตว์ที่เกิดผุดขึ้นเอง


การสร้างเทวดาปูนปั้นในพุทธศิลปกรรมล้านนา พบว่าลักษณะการสร้างงานประติมากรรมเทวดาปูนปั้นล้านนาเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการสร้างรูปทรง 2 มิติและ 3 มิติ มีปริมาณ มีน้ำหนัก และกินเนื้อที่ในอากาศ โดยใช้วัสดุชนิดต่างๆ วัสดุใช้สร้างสรรค์งานประติมากรรม กลายเป็นตัวกำหนดการสร้างผลงาน ความงามประติมากรรม เกิดจากแสงและเงา ที่เกิดขึ้นในผลงานการสร้างงานประติมากรรมทำได้ 4 วิธี คืองานประติมากรรมการปั้นงานประติมากรรมการแกะสลักงานประติมากรรมการหล่อ งานประติมากรรมการประกอบขึ้นรูป แต่การสร้างเทวดาส่วนใหญ่จะใช้การปั้น เพราะสร้างสรรค์ได้ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ


               วิเคราะห์เทวดาปูนปั้นเชิงพุทธศิลปกรรมในล้านนาพบว่าศิลปะเทวดาปูนปั้นในพระพุทธศาสนาปัจจุบันนั้นเป็นการสร้างสรรค์งานเชิงพุทธศิลปกรรมชั้นสูงซึ่งจะให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้สร้างนับว่าต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานเชิงพุทธศิลปกรรมให้ก้าวหน้าและมีคุณภาพ  เพราะผู้สร้างสรรค์งานจะมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ในจิตใจ นอกจากนั้นผู้สร้างสรรค์งานต้องมีความเชี่ยวชาญในงานศิลปะประเภทนั้นๆ ตลอดจนความเข้าใจในหลักและปรัชญาทางพระพุทธศาสนาศาสนา จึงจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า คุณสมบัติเหล่านี้แตกต่างไปจากผู้สร้างงานศิลปะที่ไม่มีความเชี่ยวชาญที่สร้างงานศิลปะเพื่อสนองตอบความนึกคิดของตนเองเป็นหลัก แต่ผู้สร้างงานเชิงพุทธศิลปกรรมจึงมิใช่ของง่ายที่จะสร้างขึ้น ซึ่งจะต้องพึ่งพาเหตุปัจจัยและองค์ประกอบมากมาย โดยการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

จารุวรรณ ขำเพชร และคณะ. งานปั้นปูน. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรูตลอดชีวิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2549.
เฉลียว ปิยะชน. ประติมากรรมเทวดาและกินนร แห่งล้านนา. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ปราณ. 2540.
พระมหาสมศักดิ์ สุวณฺณรตโน (สุวรรณรัตน์). ‚เทวดาในพระพุทธศาสนาเถรวาท‛. วิทยานิพนธ์ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย. 2542.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2546.
พระไพศาล วิสาโล. พระธรรมปิฎก กับอนาคตของพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: บริษัทธรรมสาร จำกัด. 2542.
ภาณุพงศ์ จงชานสิทโธ. ความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบลวดลายปูนปั้นของช่างปูนปั้นในจังหวัดเชียงใหม่และลาพูน. เชียงใหม่: คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ. 2556.
ม.ล. สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์. “งานปูนปั้นล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายและยุคที่เกี่ยวเนื่อง”. งานวิจัย.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2541.
มัย ตะติยะ. ประติมากรรมพื้นฐาน. กรุงเทพมหานคร: เอมี่เทรดดิ้ง. 2549.
สอน สุพรรณ. ปูนปั้นเทวดา ผนังวิหารเจ็ดยอด. เชียงใหม่: ลานธรรม. 2558.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ:หริภุญไชย-ล้านนา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ. 2538.