กฎหมายสัญญาของประเทศไทย: ข้อเสนอสำหรับการปฎิรูปกฎหมายซื้อขายโดยการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายสัญญาของประเทศญี่ปุ่น และ CISG

Main Article Content

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพิตา เรืองวิชาธร

บทคัดย่อ

            ในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ใช้บังคับกับการซื้อขายสินค้าทางพาณิชย์ในประเทศ (Domestic Commercial Sales) และการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ (International Sales) ส่งผลให้เกิดข้อขัดข้องในทางกฎหมายหลายประการ บทบัญญัติในเรื่องซื้อขายที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยเป็นกฎหมายเพียงชุดเดียวที่ใช้บังคับมาโดยตลอด ไม่ว่าสำหรับการซื้อขายประเภทใด ทั้ง ๆ ที่การซื้อขายแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน โดยที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดและคล้ายคลึงกันในด้านการพัฒนาระบบกฎหมายหลายประการ อาทิ การรับเอาอิทธิพลของระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรป (Civil Law System) มาพัฒนาเป็นระบบกฎหมายของตนและการที่ประเทศไทยรับเอาประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๐๕ มาเป็นแม่แบบหนึ่งในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยในอดีต ดังนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญต่อประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ย่อมมีความสำคัญต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยด้วยเช่นกัน


            อนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างไปจากประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วย สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักแพร่หลายในชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “CISG” หรือ “the 1980 Vienna Sales Convention” ที่ถูกออกแบบขึ้น เพื่อให้มีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะในปัจจุบันถือได้ว่า CISG เป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกเรื่อยมาและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจนถึงขณะนี้ รวม ๙๔ ประเทศทั่วโลก


            หลังจากที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขครั้งใหญ่ใด ๆ มาก่อนในรอบ ๑๒๐ ปีที่ผ่านมา ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นเพิ่งได้รับการแก้ไขครั้งใหญ่และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา บทความวิจัยฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา (๑) ความสำคัญของประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ในส่วนที่ถูกแก้ไขเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายสัญญาของไทยในประเด็นซื้อขาย (๒) ความสำคัญของ CISG เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายซื้อขายของไทย (๓) ความสำคัญในการพัฒนากฎหมายสัญญาของไทยในประเด็นซื้อขาย โดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นในส่วนที่ถูกแก้ไขและ CISG เป็นแนวทาง อย่างไรก็ตามบทความวิจัยฉบับนี้ศึกษาเฉพาะบางประเด็นที่ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นถูกแก้ไขเท่านั้น


            ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความวิจัยฉบับนี้จะเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญในการพัฒนากฎหมายซื้อขายของไทย เนื่องจาก มีการหยิบยกประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นในส่วนที่ถูกแก้ไขและ CISG ขึ้นมาเป็นแนวทาง และเสนอให้มีการพัฒนากฎหมายซื้อขายไทย ด้วยวิธีการที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม กล่าวคือ (๑) แยกการซื้อขายทางพาณิชย์และการซื้อขายทางแพ่งออกจากกัน (๒) การตรากฎหมายใหม่ที่ใช้บังคับเฉพาะกับการซื้อขายทางพาณิชย์ในประเทศ (๓) การเข้าเป็นภาคีสมาชิกของ CISG และออกกฎหมายอนุวัติการเพื่อให้มีกฎหมายฉบับใหม่ที่ใช้บังคับกับการซื้อขาย สินค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ

Article Details

บท
บทความ

References

Alper, G. (2022, May 5). CISG: Table of Contracting States. Institute of International Commercial Law. https://iicl.law.pace.edu/cisg/page/cisg-table-contracting-states.

In the same year, there was also another case bearing similar facts and points of dispute which the court decided with the same result, i.e. the Supreme Court Judgment No. 3651/2537

Just recently, the writer has found a clearer picture of Thailand’s accession to CISG during an interview on 4th February 2021 with the Permanent Secretary of the Ministry of Justice regarding the development of Thai sales law in general, i.e., the Ministry of Justice is now supporting and co-working with the Ministry of Foreign Affairs in the process of acceding thereto.

The drafting was reported to start in 1905 as the initiative of King Rama V to abolish the so-called ‘Unfair Treaty’ made with foreign powers similarly to Japan.