ทำในสิ่งที่คุณเป็น: ค้นพบอาชีพที่สมบูรณ์แบบสำหรับคุณ ผ่านความลับของบุคลิกภาพของคุณ
บทคัดย่อ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างผลิกผัน (Disruptive technology) ส่งผลให้นวัตกรรมใหม่เข้ามาแทนมาตรฐานเทคโนโลยีเดิม ทำให้อุตสาหกรรมเดิมต้องดิ้นรนต่อสู้อีกทั้งยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัว บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลง ส่งผลให้ความต้องการของตลาดแรงงานมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้บุคคลต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด ยิ่งไปกว่านั้นมีการประชุม World Economic Forum(WEF) ปี ค.ศ. 2020 เกี่ยวกับประเด็นด้านอาชีพการงานในอนาคต โดยในที่ประชุมมีความกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่แรงงานไฮเทคที่เข้ามาแทนที่มนุษย์ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตและการทำงานต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป ทางองค์กร WEF จึงได้มีการสำรวจความต้องการของประเทศต่าง ๆ ว่าต้องการอาชีพอะไรมากที่สุด ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาต้องการอาชีพเกี่ยวกับนักการตลาดออนไลน์ นักวิเคราะห์ข้อมูล มากขึ้น และบางอาชีพที่มีแนวโน้มต้องการน้อยลง เช่น พนักงานบัญชี พนักงานฝ่ายบุคคล รวมไปถึงทักษะทางอาชีพที่มีความต้องการมากที่สุด เช่น การรับมือความเครียดและความยืดหยุ่น การคิดวิเคราะห์และความคิดเชิงนวัตกรรม (World Economic Forum, 2020) ดังนั้น บุคคลจึงควรเข้าใจตัวเองให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น เช่น ความสนใจ ทักษะ หรือบุคลิกภาพ เข้าใจตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ตนเองสามารถตัดสินใจเลือกอาชีพได้เหมาะสมสอดคล้องกับตนเองมากที่สุด เพื่อความอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วหนังสือ “ทำในสิ่งที่คุณเป็น: ค้นพบอาชีพที่สมบูรณ์แบบสำหรับคุณผ่านความลับของบุคลิกภาพของคุณ” (Do What You Are: Discover the Perfect Career for You Through the Secrets of Personality Type) แต่งโดย Paul D. Tieger, Barbara barron และ Kelly Tieger เมื่อปี ค.ศ. 1992 หนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนหลักคือ Paul D. Tieger ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพและด้านบุคลิกภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพที่นิวอิงแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยศูนย์นี้ได้ฝึกฝนผู้จัดการ ผู้นำ ฝ่ายบุคคลมืออาชีพ ที่ปรึกษาทางด้านอาชีพ และนักการศึกษาหลายพันคน รวมไปถึงการที่หนังสือเล่มนี้ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 และยังคงมียอดขายมากกว่า 1 ล้านเล่ม และยังขายได้อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นยอดขายที่สูงมาก แสดงให้เห็นว่าแนวความคิดในการเข้าใจบุคลิกภาพของตนเอง เพื่อค้นหาอาชีพที่เหมาะสม เพื่อทำให้บุคคลเกิดความพึงพอใจและความสุขมากขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะปัญหาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงของเทคโนโลยี การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเข้ามาของแรงงานอัตโนมัติ ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาชีพต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายบุคคลจึงมีเวลาที่จำกัดในการค้นหาตนเองจากการประเมินสถานการณ์อนาคต พบว่าร้อยละ 65 ของนักเรียนระดับมัธยมในวันนี้อาจจะลงเอยด้วยการทำงานที่ตอนนี้ยังไม่มีใครสร้างมันขึ้นมาด้วยซ้ำ และก็มีหลักฐานให้เห็นกันชัดเจนว่าสถานการณ์แบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว นั้นคือสิบอันดับงานที่ดีที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2010 ล้วนเป็นงานที่ยังไม่เกิดเลยในปี ค.ศ.2004 และนวัตกรรมก็เริ่มก้าวกระโดดนับจากนั้นเป็นต้นมา (Ringwald, 2015) ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือคนทั่วไปก็มีความจำเป็นที่จะต้องค้นพบและเข้าใจตนเองอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเครื่องมือมาตรฐานที่สามารถนำมาใช้ค้นหาตนเองที่นิยมมากที่สุดก็คือ แบบทดสอบบุคลิกภาพ Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) (สามารถทำแบบทดสอบได้ที่ https://www.16personalities.com/th)แก่นหลักซึ่งเป็นส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้จะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับวิธีการหางานที่พึงพอใจ โดยการทำความรู้จักกับตัวเอง ซึ่งแนวคิดบุคลิกภาพหลักของหนังสือเล่มนี้ได้ใช้แนวคิดของ Isabel Briggs Myers และ Kathrine Cook Briggs สองแม่ลูกที่พัฒนาแบบวัดบุคลิกภาพ MBTI โดยพัฒนามาจากแนวคิดบุคลิกภาพของนักจิตวิเคราะห์ชาวสวิส Carl Jung ซึ่งเขาได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์จำนวนมากและพบว่า พฤติกรรมไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของคนใดคนหนึ่งแต่หลาย ๆ คนสามารถมีรูปแบบของพฤติกรรมที่เหมือนหรือคล้าย ๆ กันได้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะมีความเป็นระบบระเบียบ มีความคงเส้นคงวา อีกทั้งรูปแบบพฤติกรรมที่ทำให้คนแตกต่างกันก็คือรูปแบบที่ผู้คนมักแสดงออกมาบ่อย ๆ ซึ่งจะสะท้อนทัศนคติของบุคคลที่มีต่อโลก ได้แก่ การมีลักษณะของคนที่เปิดเผย (Extrovert เขียนย่อ E) กับการมีลักษณะของคนแบบเก็บตัว (Introvert เขียนย่อ I) อย่างไรก็ตาม Myers มีความเห็นว่า ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะมีคุณลักษณะแบบใดแบบหนึ่งล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ละคนจะสมดุลของบุคลิกภาพระหว่างแบบเปิดเผย (Extrovert) กับแบบเก็บตัว (Introvert) ที่แตกต่างกันนอกจากนี้ Carl Jung ยังได้เสนอตัวแปรทางจิตวิทยาที่มีผลต่อบุคลิกภาพที่แบ่งเป็น 2 มิติ โดยมิติแรกคือ การรับรู้ (Perception Dimensional หรือ P) ซึ่งประกอบด้วยตัวแปรที่เกี่ยวกับวิธีการรับรู้ข้อมูลของมนุษย์ 2 วิธีซึ่งอยู่ปลายขั้วคนละด้านของแกนต่อเนื่องกันได้แก่วิธีการรู้ด้วยประสาทสัมผัส (Sensing หรือ S) ซึ่งต้องอาศัยประสาททั้ง 5 ทางกายกับวิธีการรู้ด้วยการหยั่งรู้ (Intuition หรือ N) ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในอดีต ส่วนมิติที่สอง คือการวินิจฉัยตัดสิน (Judgment dimension หรือ J) ซึ่งเป็นการลงความเห็นหรือตีความข้อมูลที่ได้รับรู้จากมิติแรก มิตินี้ประกอบด้วยตัวแปร 2 ตัว อยู่ปลายขั้วสุดของแกนต่อเนื่องกัน ได้แก่วิธีการคิด(Thinking หรือ T) ซึ่งต้องใช้หลักเหตุผลและการวิเคราะห์ กับวิธีการใช้ความรู้สึก (Feeling หรือ F) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกส่วนตัวเป็นหลัก จึงมักเกี่ยวกับอารมณ์ส่วนบุคคลด้วยตัวแปรทั้งหมดที่กล่าวมาจึงสามารถนำมาผสมผสานแบบเมทริกซ์ จนเกิดเป็นแบบของบุคลิกภาพหลักขึ้น 4 แบบ และนำตัวแปรทั้ง 8 ตัวดังกล่าวมาแล้วตอนต้นมาจัดเป็นชุด ๆ ละ 4 ตัวแปร ทำให้ได้แบบของบุคลิกภาพขึ้นอีก 16 แบบ ดังตารางต่อไปนี้ ตารางที่ 1 ลักษณะบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบ
ISTJ ISTJ INFJ INTJ ISTP ISFP INFP INTP ESTP ESFP ENFP ENTP ESTJ ESFJ ENFJ ENTJที่มา: Tieger,Barron andTieger (2014)ในส่วนที่สองของหนังสือจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับบุคลิกภาพ เพราะว่าบุคลิกภาพจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในอาชีพ โดยสามารถสังเกตจากเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในลักษณะเดียวกันแต่กลับมีรอยยิ้มที่สบายใจและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ แม้จะได้รับสิ่งจูงใจเพียงเล็กน้อย เพราะเขาทำงานที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของเขา ประเภทบุคลิกภาพสามารถช่วยนำทางบุคคลเข้าไปสู่การทำงานที่สนุกสนานและพึงพอใจได้ มนุษย์เรามีบุคลิกภาพและความชอบที่แตกต่างกัน แม้แต่ฝาแฝดที่มีลักษณะเหมือนกันก็มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเข้าใจความซับซ้อนของบุคลิกภาพจะทำให้บุคคลมีความสุขและประสบความสำเร็จในการทำงาน ผู้เขียนซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านบุคลิกภาพ และเป็นที่ปรึกษาทางด้านอาชีพได้ถอดรหัสแต่ละบุคลิกภาพเพื่อทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดบุคลิกภาพทีละบุคลิกภาพ ว่ามีลักษณะการคิด การสื่อสาร วิธีการแก้ไขปัญหาและการทำงานอย่างไรบ้างเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพให้มากที่สุด และมีแนวทางในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตนเองในส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ เป็นส่วนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เนื่องจากผู้เขียนนำเสนอทั้ง 16 บุคลิกภาพ โดยแบ่งออกเป็นบทละหนึ่งบุคลิกภาพ ซึ่งแต่ละบทจะนำเสนอเรื่องราวของบุคคลต่าง ๆ มากมายเป็นกรณีศึกษา ให้ผู้อ่านได้เรียนรู้บุคคลที่มีลักษณะเหมือนกับตนเอง ผู้เขียนเริ่มต้นส่วนที่สามด้วยการเกริ่นว่า “หนทางแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการเรียนรู้ผ่านความผิดพลาดของตนเอง” แต่หนทางแห่งการเรียนรู้ที่ดีรองลงมา คือการเรียนรู้ผ่านความผิดพลาดและความสำเร็จของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเหมือนกับเรา” ความเหมือนในที่นี่คือบุคลิกภาพตามแนวคิด MBTI และเนื่องจาก Paul D. Tieger ผู้เขียนหลักเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ ที่มีประสบการณ์ยาวนาน ทำให้พบเจอกับกรณีศึกษามากมายซึ่งกรณีศึกษาที่ยกขึ้นมามีความแตกต่างทั้งด้านอาชีพ รายได้ อายุ และภูมิหลัง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือพวกเขามีความพึงพอใจในอาชีพการงานของตนเอง บางคนอาจะใช้เวลาหลายปี และหลายงาน บางคนอาจมีการวางแผนเส้นทางอย่างรอบคอบ และตรงไปตรงมา ผู้เขียนยังวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นว่างานของแต่ละกรณีศึกษาทำให้พวกเขาดึงจุดแข็งตามธรรมชาติออกมาใช้ได้อย่างไร และทำให้พวกเขาพึงพอใจได้อย่างไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะช่วยให้ผู้อ่านค้นพบว่าอะไรคือความต้องการเพื่อที่จะค้นหางานที่พึงพอใจ โดยในแต่ละบทจะมีกรณีศึกษาหลายคน ผู้เขียนจะบอกเล่าถึงลักษณะนิสัย ลักษณะงาน วิธีการทำงาน และผู้เขียนยังอธิบายอีกว่าทำไมอาชีพนี้ถึงเหมาะกับกรณีศึกษาแต่ละคน เมื่อจบเรื่องราวของกรณีศึกษาแล้ว ผู้เขียนยังนำเสนออีกว่าอะไรที่ทำให้บุคคลแต่ละบุคลิกภาพมีความพึงพอใจและได้แบ่งอาชีพจำนวนมากที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพออกเป็นหมวดหมู่ เช่น ศาสนา สร้างสรรค์ ด้านสุขภาพ/บริการสังคม ธุรกิจ และเทคโนโลยี และสุดท้ายผู้เขียนยังมีข้อแนะที่มีค่าหลายอย่างปิดท้ายในแต่ละบทสำหรับแต่ละบุคลิกภาพ เช่น “ถ้าคุณยังไม่ได้ทำงานที่คุณรัก ให้คุณรักสิ่งที่คุณมี งานส่วนใหญ่จะมีวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่น เราสามารถออกแบบงานที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังบอกลักษณะงานทำงานของแต่ละบุคลิกภาพ” เพื่อให้ผู้อ่านสามารถพิจารณาได้ว่าลักษณะบุคลิกภาพของตนเองเหมาะสมกับงานและวิธีการทำงานแบบไหน เนื่องจากโดยทั่วไปเวลาที่ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI จะมีรายชื่ออาชีพที่มีความเหมาะสมมาให้เลือก แต่หนังสือเล่มนี้นอกจากนำเสนองานต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการอธิบายถึงลักษณะความคิด ลักษณะการทำงานอีกด้วย สุดท้ายของแต่บทผู้เขียนยังทิ้งท้ายด้วยเคล็ดลับสำคัญของแต่ละบุคลิกภาพ เช่น “บุคลิกภาพแบบ INFP จะต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะพัฒนาความคาดหวังที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ประนีประนอมต่อคุณค่าของตนเอง และไม่นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาเป็นเรื่องส่วนตัวเสียหมด”แม้ว่าในส่วนที่สามของหนังสือเล่มนี้ จะนำเสนอแต่ละบทเป็นบุคลิกภาพ แต่ผู้อ่านไม่ควรอ่านเพียงแค่บุคลิกภาพที่สอดคล้องกับตนเองเพียงอย่างเดียว เนื่องจากแต่ละบทจะมีเรื่องราวชีวิต ลักษณะการทำงาน การคิดของกรณีศึกษา ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างเข้าใจ อีกทั้งหากมีผู้อ่านที่มีอาชีพให้คำปรึกษา แนะแนว ฝ่ายบุคคล หรืออาชีพ/ตำแหน่งที่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องคนมาก ๆ หนังสือเล่มนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตามแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือที่ครบเครื่องอย่างมาก แต่ก็เป็นลักษณะในการทำงานแบบวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีลักษณะการทำงานหรือมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกับประเทศในแถบตะวันออก (Foster & Minkes, 1999) ดังนั้นหากจะเอาวิธีการทำงาน หรือเรื่องราวประสบการณ์ของแต่ละกรณีศึกษาไปปรับใช้จำเป็นต้องใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบกับรูปแบบการทำงานในประเทศไทย ซึ่งหากมีบางบริบทที่สอดคล้องก็สามารถนำไปใช้ได้เลย แต่บางบริบทอาจมีข้อแตกต่างอยู่มากจำเป็นต้องปรับปรุงและพิจารณาก่อนจะนำไปใช้ อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะเป็นข้อด้อยของหนังสือเล่มนี้ เพราะในบางบริบทถึงแม้จะเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย
เพื่อขยายประสบการณ์ให้กว้างมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานและการเรียนรู้เรื่องราวของคน ดังนั้นหนังสือ“ทำในสิ่งที่คุณเป็น”เล่มนี้จึงเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชั้นดีเพื่อเรียนรู้และพัฒนา ขยายความเข้าใจบุคลิกภาพของตนเอง ลักษณะงาน และการเข้าใจผู้อื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลสามารถตัดสินใจเลือกงานที่ตนเองพึงพอใจ และได้ทำงานที่เหมาะสมนั้นได้อย่างมีความสุขในแต่ละวันReference
Foster, M., & Minkes, A. (1999). East and West: Business Culture as Divergence and Convergence. Journal of General Management. 25(1), 60-71.
Ringwald, A. (2015). 3 ways to fix our broken training system. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2015/01/three-ways-to-fix-our-broken-training-system. Tieger, P., Barron, B. & Tieger, K. (2014).Do What You Are: Discover the Perfect Career for You Through the Secrets of Personality Type. (5th ed). NY: Little, Brown and Company.
World Economic Forum. (2020). The Future of Jobs Report 2020. Retrieved from http://www3.weforum.org/docs/WEF_Future_of_Jobs_2020.pdf.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความทุกบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ (Kasetsart Educational Review)