เครื่องมือการวิจัยทางการศึกษาและสังคมศาสตร์
บทคัดย่อ
การวิจัยเป็นระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ หรือสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์ทุกแขนง กระบวนการทำวิจัยจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญที่นำไปสู่การได้มาซึ่งคำตอบหรือองค์ความรู้ที่นักวิจัยตั้งเป้าหมายไว้ หนังสือเรื่อง “เครื่องมือการวิจัยทางการศึกษาและสังคมศาสตร์” เล่มนี้ เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร. อัจศรา ประเสริฐสิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการ รักษาการหัวหน้าฝ่ายสร้างและพัฒนาแบบทดสอบ มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ ที่ตั้งใจถ่ายทอด
องค์ความรู้ที่ตกผลึกมาจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ได้
คร่ำหวอดในแวดวงวิชาการทั้งในบทบาทของอาจารย์ผู้สอน อาจารย์พิเศษ นักวิจัย นักวิชาการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือที่มี
ความน่าสนใจและเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ทำวิจัยมือใหม่
ที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิจัย มือเก่าที่ต้องการทบทวนความรู้ นิสิต/นักศึกษาที่เรียนวิชาวิจัยหรือต้องทำวิจัย ตลอดจนทุกคนที่ต้องการจะศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัยตลอดทั้งกระบวนการวิจัย
หนังสือเล่มนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 402 หน้า ประกอบไปด้วย เนื้อหาจำนวน 9 บท และบทส่งท้ายเกี่ยวกับเครื่องมือวิจัยแบบออนไลน์ นับได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีความทันสมัย และตอบโจทย์การทำวิจัยในยุค New normal ณ ปัจจุบันนี้ โดยสังเขปสาระของหนังสือเล่มนี้ในแต่ละบท มีดังนี้
บทที่ 1 บทนำ ในบทนี้จะกล่าวถึงหลักสำคัญของ
การวิจัย กระบวนการของการวิจัย วัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของการวิจัย
บทที่ 2 การวางแผนและกำหนดจุดมุ่งหมายการวิจัย
ในบทนี้จะกล่าวถึงการกำหนดปัญหาการวิจัย การกำหนดจุดมุ่งหมายของการวิจัย การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย การนิยามและตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย
บทที่ 3 ประเภทและหลักการในการเลือกใช้เครื่องมือวิจัย ในบทนี้จะกล่าวถึงการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ประเภท และการออกแบบเครื่องมือวิจัย
บทที่ 4 การออกแบบเครื่องมือวิจัยเชิงปริมาณ ในบทนี้ จะกล่าวถึงแบบทดสอบ แบบสอบถาม และแบบประเมินการปฏิบัติ
บทที่ 5 การออกแบบเครื่องมือวิจัยเชิงคุณภาพ
ในบทนี้จะกล่าวถึงการสังเกต การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม
บทที่ 6 การออกแบบเครื่องมือวิจัยสำหรับตัวแปร
จัดกระทำ ในบทนี้จะกล่าวถึงการวิจัยที่นิยมใช้เครื่องมือวิจัยสำหรับตัวแปรจัดกระทำ โปรแกรม ชุดฝึกอบรม แบบฝึกทักษะ และรูปแบบ
บทที่ 7 แนวคิดและหลักการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย ในบทนี้จะกล่าวถึงการวิเคราะห์ข้อสอบ
ความตรงหรือความเที่ยงตรง (validity) ความเที่ยงหรือ
ความเชื่อมั่น (reliability) และประสิทธิภาพของนวัตกรรม
บทที่ 8 เกณฑ์การแปลผลและการกำหนดระดับคะแนน ในบทนี้จะกล่าวถึง เกณฑ์ปกติ คะแนนดิบและคะแนนแปลงรูป และการกำหนดระดับคะแนน
บทที่ 9 การจัดทำรายงานผลการพัฒนาเครื่องมือวิจัย ในบทนี้จะกล่าวถึงการเขียนรายงานในเนื้อหา การเขียนรายงานในภาคผนวก คุณสมบัติและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเขียนรายงาน และการจัดทำบทความเพื่อเผยแพร่
และบทส่งท้าย ในบทนี้จะกล่าวถึงเครื่องมือวิจัยแบบออนไลน์ การทำ Google Forms ตัวอย่างแบบสอบถามออนไลน์ และตัวอย่างการเขียนรายงานการใช้แบบสอบถามออนไลน์
หนังสือเล่มนี้จะช่วยปูพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นของการวิจัยไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะการเน้นให้ผู้อ่านเข้าใจตั้งแต่ความหมายของการวิจัย เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่ากระบวนการวิจัยเป็นกระบวนแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบด้วยการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาตอบข้อสงสัยหรือพิสูจน์
องค์ความรู้เดิมที่เป็นข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น โดยใช้เครื่องมือวิจัยในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งการเริ่มต้นสร้างเครื่องมือวิจัยนั้นต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจในปัญหา
การวิจัยเพื่อวางแผนและกำหนดจุดมุ่งหมายของการวิจัยให้ชัดเจน จากนั้นจึงกำหนดจุดมุ่งหมายของการวัด การประเมิน และการสร้างเครื่องมือการวิจัย ดังนั้นกระบวนการแรกสุดของการทำวิจัยจึงเริ่มต้นจากการที่ผู้วิจัยกำหนดปัญหา
การวิจัยที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์และสมมติฐาน โดยอาศัยวิธีการทบทวนจากเอกสารและงานวิจัย
ที่เกี่ยวข้องแล้วนำไปกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัย
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการวิจัยจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบของกระบวนการวิจัย ข้อมูลที่จะต้องใช้เพื่อตอบคำถามในงานวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการสรุปและอภิปรายผลการวิจัย ซึ่งในทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัยล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน อันจะนำไปสู่ผลการวิจัยที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 หลักสำคัญของการทำวิจัย ประกอบด้วย 4 กระบวนการ
ที่มา: อัจศรา ประเสริฐสิน (2563)
กล่าวโดยสรุปว่า หนังสือ “เครื่องมือการวิจัยทางการศึกษาและสังคมศาสตร์” เล่มนี้ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้อ่านได้ศึกษาและทำความเข้าใจได้ครบใน
ทุกบท จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะมีสาระสำคัญที่ครบถ้วนตามหลักวิชาการแล้ว ความโดดเด่นและเสน่ห์ที่ชวนอ่านอยู่ที่การนำเสนอของผู้เขียนด้วยการใช้ภาษาที่อ่านง่าย
มีการยกตัวอย่างประกอบการอธิบาย มีรูปภาพสรุปสาระสำคัญในแต่ละประเด็น และในส่วนท้ายของทุกบทยังมีคำถามชวนคิดที่กระตุ้นและชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ลองตอบคำถามหลังจากที่ศึกษาแต่ละบทจบ เพื่อเป็นการทบทวนความเข้าใจและความคิดของตนเอง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือในศาสตร์การวิจัยอีกหนึ่งเล่มที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง
ReferencesPrasertsin, A. (2020). Research Instruments in Education and Social Sciences. Bangkok: Chulalongkorn University Press.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2021 วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความทุกบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ (Kasetsart Educational Review)