ความเครียด และการปรับตัวของนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ผู้แต่ง

  • นันทิพย์ หาสิน สาขาวิชาคหกรรมศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • อังคณา ขันตรีจิตรานนท์ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • นนทลี พรธาดาวิทย์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

คำสำคัญ:

ความเครียด, การปรับตัว

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้เพื่อศึกษา 1) ระดับความเครียด 2) การปรับตัว และ 3) เปรียบเทียบ ความเครียดของนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มีลักษณะพื้นฐานและการปรับตัวแตกต่างกัน โดยใช้แบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 396 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปผลการวิจัย พบว่า นักศึกษาประมาณครึ่งเล็กน้อย มีผลการเรียนอยู่ในช่วง 2.00-2.99 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 6,728.54บาท สองในห้าอาศัยอยู่บ้านของบิดามารดาและตัวนักศึกษาเอง สี่ในห้าบิดามารดาอยู่ด้วยกัน มากกว่าสามในห้าบิดาและมารดาจบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีนอกจากนี้มากกว่าหนึ่งในห้าของนักศึกษาบิดาและมารดามีอาชีพรับจ้างทั่วไป ความเครียดของนักศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง และการปรับตัวของนักศึกษาอยู่ในระดับสูง

จากการทดสอบสมมติฐาน พบว่า นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่มีลักษณะพื้นฐานแตกต่างกันมีความเครียดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ยกเว้น นักศึกษาที่บิดามีอาชีพแตกต่างกันมีความเครียดไม่แตกต่างกัน และนักศึกษามีการปรับตัวแตกต่างกัน มีความเครียดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads