การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ที่มีต่อความสามารถ ในการแก้ปัญหาและความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์

ผู้แต่ง

  • วิชชุดา วิศววิลาวัณย์ สาขาวิชาการสอนคณิตศาสตร์ ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ชานนท์ จันทรา ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน, การแก้ปัญหา, การให้เหตุผล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์” โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน 2) ศึกษาความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์” โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์” ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศรัทธาสมุทรจังหวัดสมุทรสงคราม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 1 ห้องเรียนจำนวนนักเรียน 47 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม จากจำนวนห้องเรียนทั้งหมด 12 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด 1)เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์”2)เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์” แบบทดสอบวัดความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์” และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เรื่อง “ทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์” การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที

ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถในการให้เหตุผลหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานว่ามีความเหมาะสม

Downloads