บทวิจารณ์หนังสือ (Book Review) How People Learn
บทคัดย่อ
National Research Council. (2000). How People Learn: Brain, Mind, Experience, and School:Expanded Edition. Washington, DC: The National Academies Press. doi, 10.17226/9853
หนังสือ How People Learn: Brain, Mind, Experience, and School: Expand Edition หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิต นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับก้าวไปสู่วิชาชีพครูในอนาคต ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอสาระสำคัญไว้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรกได้ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียนเป็นหลัก ถัดมาในส่วนที่สองได้มาศึกษาเกี่ยวกับตัวผู้สอน และส่วนสุดท้ายได้กล่าวถึงวิธีการที่ช่วยพัฒนาศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคลทั้งตัวผู้เรียนและผู้สอน ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกตีพิมพ์เมื่อ ปี ค.ศ. 2000 แต่ด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งส่วนของผู้เรียนและการเรียนรู้ ส่วนของผู้สอนและการสอน และการวิจัยในอนาคตจนนำมาสู่ความเป็นปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้มีวิธีนำเสนอตามแบบแผนของการเขียนตำราทางวิชาการที่น่าสนใจ มีโครงสร้างที่ชัดเจน ผู้แต่งเริ่มต้นในแต่ละบทด้วยการกล่าวถึงเนื้อหาโดยรวมในบทนั้น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านรู้ขอบเขตของเนื้อหา มีตัวอย่างและกรณีศึกษาที่ให้ผู้อ่านเห็นภาพสถานการณ์นั้นได้อย่างชัดเจน รวมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาไปสู่บทอื่น ๆ ในตอนท้ายของแต่ละบทยังมีการสรุปทบทวนประเด็นสำคัญที่ได้กล่าวไว้ในเนื้อหาซึ่งเนื้อหาทั้งสามส่วนมีรายละเอียด ดังนี้
เนื้อหาในส่วนแรกมุ่งเน้นการศึกษาตัวผู้เรียน โดยศึกษาความแตกต่างของกระบวนการคิดระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้เริ่มต้นเรียนรู้ ทำให้ผู้อ่านมีแนวทางในการพัฒนาความคิดของผู้เริ่มต้นเรียนรู้ไปสู่ผู้เชี่ยวชาญ โดยผ่านการเรียนรู้ และกระบวนการถ่ายโอนความรู้ ซึ่งผู้สอนควรมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงกระบวนการทำงานของจิตและสมอง โดยในส่วนนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกที่ผู้สอนควรตระหนักถึงและเป็นเป้าหมายเพื่อการกำหนดแนวการจัดการเรียนการสอนต่อไป
เนื้อหาในส่วนที่สองนี้จะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับเตรียมความพร้อมของผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ของครูซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียน องค์ความรู้ การประเมิน และชุมชนเป็นสำคัญ รวมถึงกลยุทธ์เพื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาส่วนนี้เปรียบดั่งคลังอาวุธที่ผู้สอนต้องเลือกหยิบออกมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้สอนและตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
และในส่วนสุดท้ายเป็นเส้นทางที่เปิดโอกาสสู่การพัฒนาทั้งตัวของผู้เรียนและผู้สอน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ และแนวโน้มการวิจัยทางการศึกษาในอนาคต ที่มุ่งไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต “lifelong learning”
กล่าวโดยสรุป จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ เนื้อหามีความหลากหลายแต่จัดเรียงได้ต่อเนื่องกันและแสดงตัวอย่างได้อย่างชัดเจน นับได้ว่าเป็นหนังสือมาตรฐานแบบฉบับ (คลาสสิก) ที่ทรงคุณค่าเหมาะสมสำหรับผู้ปกครองนักการศึกษาในระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจในกระบวนการการเรียนรู้ของมนุษย์ มีการเขียนชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของความรู้ ความคิดเห็น
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เขียน ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทางการศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่การอธิบายวิวัฒนาการการอธิบายการเรียนรู้ การรวบรวมทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ ไปจนถึง ข้อเสนอแนะและสิ่งที่นักวิจัยยังคงต้องดำเนินค้นหาคำตอบต่อไป
แต่เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้รวบรวมความรู้ทางด้านวิจัยหลากหลาย และมีผู้เขียนหลายท่านจึงทำให้สำนวนภาษาบางส่วนไม่สอดคล้องกันตลอดทั้งเล่ม คำศัพท์ในหนังสือเล่มนี้อาจจะซับซ้อนบ้างสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาในศาสตร์นี้ (เช่น ความรู้ที่มีมาก่อนหน้านี้ หรือ pre-existing knowledge) อีกทั้งตัวอย่างส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ซึ่งอาจไม่ง่ายต่อการทำความเข้าใจนักสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหรือมีความรู้ทางด้านนี้โดยตรง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ไม่เข้าใจ หรือมองข้ามความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไปได้ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป และมองข้ามปัญหาของภาษา รวมทั้งความเข้าใจเนื้อหาวิทยาศาสตร์ในบางเรื่องไปได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ปูพื้นฐานความเข้าใจทางด้านการศึกษา และการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
Downloads
ฉบับ
บท
License
บทความทุกบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ (Kasetsart Educational Review)