มาตรการบังคับใช้โทษทางอาญาตามคำพิพากษา: ศึกษากรณีพักการลงโทษ

ผู้แต่ง

  • Nattakan Moonsueb

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ศึกษาการปล่อยผู้ต้องขังก่อนครบกำหนดโทษโดยพักการลงโทษ อันมีปัญหาเนื่องมาจากการใช้นโยบายลงโทษจำคุกแก่ผู้กระทำความผิดของรัฐ เมื่อผู้กระทำความผิดอาญาถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก จะถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำเพื่อเป็นการลงโทษและใช้เวลาระหว่างต้องโทษจำคุกในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นคนดีกลับคืนสู่สังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ  กรมราชทัณฑ์จึงแก้ปัญหาโดยนำบทบัญญัติว่าด้วยการพักการลงโทษมาใช้ นักโทษรายใดที่มีความประพฤติดีจะได้รับการพิจารณาปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษโดยพักการลงโทษเพื่อเป็นการโน้มน้าวให้ผู้ต้องขังประพฤติตนดีอยู่ในระเบียบวินัยของเรือนจำและเพื่อลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ส่งผลให้ผู้ต้องขังไม่ต้องถูกจำคุกจนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล แต่เนื่องจากว่ากฎหมายเกี่ยวกับการพักการลงโทษของประเทศไทยเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารตรากฎหมายลำดับรองขึ้นเพื่อการบริหารงานราชทัณฑ์ มีลักษณะกระจัดกระจายไม่เป็นระบบ ทำให้ยากแก่การศึกษาและทำความเข้าใจ

            จากการศึกษาข้อมูลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในต่างประเทศเกี่ยวกับการปล่อยนักโทษก่อนครบกำหนดโทษโดยการพักการลงโทษ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่นพบว่ามีการบัญญัติกฎหมายพักการลงโทษไว้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอยู่เสมอเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัย ส่งผลให้กฎหมายการพักการลงโทษของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้กระทำความผิดปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่ดี ถูกปล่อยตัวกลับสู่สังคมและสามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้ตามปกติ ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในกระบวนการทุกฝ่าย  นอกจากนี้ยังเปิดให้ชุมชนและสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีส่วนร่วมในการดูแลผู้กระทำความผิด และป้องกันสังคมให้ปลอดภัยได้ อันเป็นผลดีต่อตัวผู้กระทำความผิดและสังคม

            ดังนั้นการนำมาตรการปล่อยผู้ต้องขังก่อนครบกำหนดโทษโดยพักการลงโทษมาใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย จึงควรศึกษากฎหมายการพักการลงโทษในกฎหมายต่างประเทศเพื่อเป็นแบบอย่างในการนำมาพัฒนาปรับใช้ในประเทศไทย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้กระทำผิดได้รับการแก้ไขปรับปรุงพฤตินิสัยและกลับตนเป็นพลเมืองดีไม่กระทำความผิดซ้ำ และดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ชุมชนก็จะได้ปลอดภัยจากอาชญากรรม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแลแก้ไขปรับปรุงผู้กระทำความผิด เป็นการลดปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทยลงอย่างได้ผล

            นอกจากนี้ผู้เขียนได้เสนอแนะให้มีการตราพระราชบัญญัติกฎหมายพักการลงโทษอย่างเป็นระบบ เหมือนในประเทศญี่ปุ่นและควรมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบควบคุมดูแลผู้ต้องขังในระหว่างการพักการลงโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤตินี้ด้วย

References

กรมราชทัณฑ์. (2544). รวมกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับมาตรฐาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ราชทัณฑ์
เรือนจำคลองเปรม.

คณิต ณ นคร. (2546). กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

คณิต ณ นคร. (2543). กฎหมายอาญาภาคทั่วไป. สำนักพิมพ์วิญญูชน.

ธีระ เมฆกมล. (2523). การพักการลงโทษแก่ผู้ต้องขังในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตร
ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นัทธี จิตสว่าง. (2548). การเปรียบเทียบการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายราชทัณฑ์ของไทย.

เอกสารการสอนชุดวิชากฎหมายเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ พิมพ์ครั้งที่ 7 หน่วยที่ 15
สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

มณฑิรา ศิลปกร.(2534). การพักการลงโทษ : ศึกษาเปรียบเทียบในระบบกฎหมาย” วิทยานิพนธ์
หลักสูตรปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิสัย พฤกษะวัน. คำอธิบายพระราชบัญญัติราชทัณฑ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ทิพย์อักษร, 2534.

Command of Her Majesty. (2004). Cutting Crime, Delivering Justice [A Strategic Plan for
Criminal justice2004-08]. UK.: Stationery office.

Geoffrey P. Alpert. (1980). Legal rights of prisoners. Beverly Hills: Sage.

Joan Petersilia. (2003). When Prisoners Come Home. New York : Oxford.

Nigel S. Rodley. (1999). The Treatment of Prisoners under International Law. 2nd ed.
New York : Oxford.

Akio Yamaguchi. (2000). Institutional Treatment Profiles of Asia. UNAFEI : Tokyo.

The Penal Code of Japan. (1984). (EHS Law Bulltin Series EHS vol 2).

United Nation. (1954). Parole and Aftercare. New York: United Nations, Department of Economic
and Social Affairs.

United Nation. (1958). Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners and Related
Recommendation. New York: United Nations, Department of Economic and Social Affair.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

14-06-2018

How to Cite