พิธีแต่งงานล้านนา : ภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ผู้แต่ง

  • Pattakan Chantana

คำสำคัญ:

พิธีแต่งงานล้านนา, อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม, ความเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์และการเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์คนล้านนาที่สะท้อนผ่านพิธีแต่งงานล้านนา รวมถึงเพื่อศึกษาการสร้างอัตลักษณ์คนล้านนาผ่านการใช้บริการแพ็คเกจแต่งงานล้านนาในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และใช้แนวคิดเรื่องนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (cultural ecology) การบริโภคเชิงสัญญะ (consumption of sign) การโหยหาอดีต (nostalgia) และการตีความสัญญะ (hermeneutics of the signs) ในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร และการลงภาคสนามเพื่อสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม และสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการด้านวัฒนธรรมล้านนา ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการแพ็คเกจแต่งงานล้านนาในจังหวัดเชียงใหม่

ผลการวิจัยพบว่า การแต่งงานเป็นจารีตประเพณีที่มีรูปแบบและความหมายซึ่งสามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ด้านวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ของคนล้านนา ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของลักษณะสำคัญทางสังคมวัฒนธรรมในยุคจารีต 3 ประการ คือ การดำรงชีพในสังคมเกษตรกรรม การนับถือผี และการยึดถือระบบเครือญาติ จนกระทั่งล้านนาเข้าสู่ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใต้การปกครองของสยาม การดำเนินนโยบายและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของล้านนา รวมทั้งพิธีแต่งงานที่ปรากฏให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมตามแบบอย่างของสยาม อันเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับและยกย่องในฐานะวัฒนธรรมที่ศิวิไลซ์กว่า โดยในระยะแรกๆ เป็นการนำมาผสมผสาน (acculturation) กับการประกอบพิธีแต่งงานตามจารีตประเพณีของท้องถิ่น ต่อมาจึงมีอิทธิพลเหนือกว่าและเข้ามาแทนที่จารีตประเพณีท้องถิ่น ในบริบทที่คนล้านนามีวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ และโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จวบถึงปัจจุบัน จากการที่ภาครัฐและหน่วยงานในท้องถิ่นให้ความสำคัญวัฒนธรรมท้องถิ่นในบริบทของการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระแสการตื่นตัวด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น พิธีแต่งงานล้านนาก็ได้รับการรื้อฟื้นและปรับประยุกต์ขึ้นใหม่เพื่อนำเสนอเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม (cultural product) หรือสินค้าอัตลักษณ์ (identity commodity) นอกจากจะได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการสัมผัสกับวัฒนธรรมที่สวยงามแปลกตาแล้ว การบริโภคสินค้าดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความมุ่งหมายในการสร้างอัตลักษณ์คนล้านนาให้แก่ตนเอง อันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ที่สามารถได้มาซึ่งอัตลักษณ์ที่ต้องการผ่านการบริโภคสินค้าที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์

References

เกรียงไกร ป่าเขียว. (2547). ผลการดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อการประกอบธุรกิจโรงแรมในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระตามหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธัญญา สังขพันธานนท์. วิกฤติโลกาภิวัตน์ นำเสนอผ่านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย. [ระบบออนไลน์].แหล่งที่มา http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999674.html
ปนัดดา ชำนาญสุข. (2550). “มอเตอร์ไซค์ในโลกของวัยรุ่น” ใน การเดินทางของสินค้าสมัยใหม่. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

เยาวลักษณ์ กล้ามาก. (2549). การนำเสนอตัวตนของวัยรุ่นผ่านสัญญะของการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เรณู อรรฐาเมศร์. (2528). โลกทัศน์ชาวล้านนาไทยจากวรรณกรรม. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

ลัดดาวัลย์ แซ่เซียว. (2545). 200 ปี พม่าในล้านนา. กรุงเทพฯ:ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. (2548). “เวียงบุญ เชียงบาน เมืองล้านนา” ใน ชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ. กรุงเทพฯ:สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2543). ทัศนะนอกรีต : สังคม-วัฒนธรรมในวิถีการอนุรักษ์. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ.

ศักดิ์ รัตนชัย. เสียงโยนก classic. จดหมายเหตุลำปาง 1/2546 ปีที่31 ฉบับที่312-317(รวมเล่ม) เมษายน-กันยายน 2546.

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2547). “บทบาทของขัตติยนารีล้านนาในสมัยโบราณ” ใน วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่(บก.) ขัตติยานีศรีล้านนา. เชียงใหม่:มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ.

___________. (2552). ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์.

สุพัตรา สุภาพ. (2536). สังคมและวัฒนธรรมไทย : ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช.

เสฐียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ. (2550). ท้องถิ่นสยาม ยุคพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ:มติชน. (แปลจาก Temples and Elephants ของ Carl Bock, 1883)

สัมภาษณ์

ศรีเลา เกษพรหม. พนักงานแปลอักษรโบราณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2553

ธรรศ ศรีรัตนบัลล์. อาจารย์ประจำสาขาสหวิทยาการสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553

Downloads

เผยแพร่แล้ว

18-06-2018

How to Cite