ศึกษาวิธีปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวของพุทธทาสภิกขุ

Main Article Content

ศุภกร เรืองวิชญกุล
พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ)
แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม

บทคัดย่อ

     งานวิจัยเรื่องศึกษาวิธีปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวของพุทธทาสภิกขุโดยมีวัตถุประสงค์คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีปฏิบัติวิปัสสนา ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวของพุทธทาสภิกขุ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์วิธีการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวของพุทธทาสภิกขุ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา งานนิพนธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของท่านพุทธทาสภิกขุ และ บทสัมภาษณ์เชิงลึก ศิษยานุศิษย์ ของพุทธทาสภิกขุ จำนวน ๕ รูป/คน


     ผลการวิจัยพบว่าวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวพุทธทาสภิกขุ มีรายละเอียดตรงตาม มหาสติปัฏฐานสูตร  ยกเว้นไม่ได้ระบุถืงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าด้วยสิ่งปฏิกูล ๓๒ อย่าง ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และ ซากศพ ในสภาพต่าง ๆ ๙ ลักษณะ (ป่าช้า ๙)  พุทธทาสภิกขุ นำหลักธรรมจากสฬายตนวิภังคสูตร อานาปานัสสติสูตร และ ธรรมะ ๙ ตา ประกอบด้วย ทุกขตา อนิจจตา อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา ตถตา สุญญตา อตัมมยตา จากพระไตรปิฎกโดยตรง ในการอธิบายการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในรูปแบบลัดสั้น มุ่งเน้นบรรลุธรรมเห็นแจ้งพระนิพพาน เป็นนิพพานแบบชิมลาง หรือนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ พุทธทาสภิกขุ แบ่งวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็น ๒ แนวทาง คือ (๑) ฝึกสมาธิวิปัสสนาตามวิถีธรรมชาติ แนะนำให้ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ออกจากวัตถุนิยม สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สนองกิเลส ตัณหา ทิฏฐิ อุปทาน ในทางโลก อยู่ตามลำพัง วิเวกทั้งทางกาย และทางจิต เพื่อง่ายต่อการเห็นแจ้งไตรลักษณ์ ความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ (๒) ฝึกสมาธิวิปัสสนาตามรูปแบบเฉพาะ คือ อานาปานสติ ฉบับสมบูรณ์ ๑๖ ชั้น แนะนำให้ผู้ปฏิบัติ เลือกปฏิบัติวิปัสสนา ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ได้ตามสภาวธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเห็น พิจารณา กายในกาย, เวทนาในเวทนา, จิตในจิต หรือ ธรรมในธรรม ซึ่งทั้ง ๒ แนวทาง ล้วนใช้หลักธรรมเดียวกัน คือ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค ๘ อตัมมยตา และ สุญญตา หรือจิตว่างในภาษาที่พุทธทาสภิกขุ ใช้อธิบาย


     ผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของพุทธทาสภิกขุ คือ วิปัสสนาญาณ สามารถลดละตัวกูของกู ความโง่ ความทะยานอยากต่าง ๆ ความเห็นผิด และ ความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุนิยมและสิ่งทั้งปวง เพื่อถึงที่สุดแห่งความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาตินี้ได้ในชีวิตประจำวัน

Article Details

How to Cite
เรืองวิชญกุล ศ., (เทียบ สิริญาโณ) พ., และ รักษาโฉม แ. “ศึกษาวิธีปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวของพุทธทาสภิกขุ”. วารสารมหาจุฬาวิชาการ, ปี 8, ฉบับที่ 3, ธันวาคม 2021, น. 26-38, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMA/article/view/248889.
บท
บทความวิจัย

References

สกู๊ปพิเศษ. “ม.หาดใหญ่เชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญของโลก ร้อยใจใฝ่ธรรม รำลึก ๑๐๐ ปี พุทธทาส”. หนังสือพิมพ์ มติไทย. ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๒๒๘ (๑๖-๓๐ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๙).

กลุ่มอยู่เย็น เป็นประโยชน์. คู่มือเสียงธรรมพุทธทาส. ปทุมธานี: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, ๒๕๕๔.

ณฐภัทร อำพันธุ์. “วิธีการสอนหลักพุทธธรรมตามหลักวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุ”. วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์. ปีที่ ๑๓ ฉบับพิเศษ เล่ม ๑ (มิถุนายน ๒๕๖๐).

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ. ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗.

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ). อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๕๕.

พุทธทาส อินทปัญโญ. ธรรมะ ๙ ตา. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๘.

พุทธทาส อินทปัญโญ. วิธีฝึกสมาธิวิปัสสนา ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, ๒๕๕๒.

พุทธทาส อินทปัญโญ. มรดกที่ขอฝากไว้. นนทบุรี: พิมพ์อำไพ, ม.ป.ป..

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

สมเจตน์ ผิวทองงาม. “การพัฒนาตนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวทางพุทธทาสภิกขุ”. รมยสาร. ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๓ (กันยายน - ธันวาคม ๒๕๖๐) : หน้า ๒๓-๓๐.