ศักยภาพและความพร้อมในการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้การท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน

Main Article Content

Makharerk Chouchuay
Kanphitcha Dunyala

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน ศึกษาความคาดหวังและการรับรู้หลักสูตรการท่องเที่ยวชุมชนและการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน และศึกษาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนชุมชน สังคม และภูมิภาค โดยเป็นการวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ บุคลากรการท่องเที่ยวชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวชุมชนภูมิเวศภาคใต้ฝั่งอันดามัน 12 ชุมชน ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนภูมิเวศภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมจำนวน 18 คน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวชุมชนภูมิเวศภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 100 คน โดยใช้วิธีแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้แนวคิดและทฤษฎีการท่องเที่ยวโดยชุมชน แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรระยะสั้น และปัจจัยที่มีผลต่อผลการกำหนดศักยภาพในการสังเกต และข้อมูลการสนทนากลุ่มหาความหมายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีลักษณะ เป็นภาพมุมมองแบบองค์รวม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่ออธิบายลักษณะทั่วไปของประชากร และระดับความคาดหวังและการรับรู้หลักสูตรการท่องเที่ยวชุมชนและการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชน ผลการศึกษาพบว่าศักยภาพและความพร้อมของท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นการจัดการด้วยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะ รวมทั้งกระบวนการดำเนินการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันตามลักษณะภูมินิเวศ กิจกรรมการท่องเที่ยว และภูมิปัญญาตามอัติลักษณ์ของท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงความต้องการของชุมชนการท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามันในการรวมกลุ่มจัดตั้งการเรียนรู้  และความพร้อมของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาในการสนับสนุน เพื่อสร้างแนวทางการถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชน คิดค้น พัฒนา สร้างศักยภาพ และยกระดับการบริการของท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับความพร้อมในการพัฒนาเป็นสถาบันการเรียนรู้ในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น และมีความสัมพันธ์กับผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มการจัดการท่องเที่ยวชุมชนภูมิเวศภาคใต้ฝั่งอันดามัน พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง  มีอายุอยู่ในช่วง 40-49 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรี ประกอบอาชีพในองค์กรเอกชน และเป็นเพศชาย อายุ 50-59 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรี และประกอบอาชีพในองค์กรภาครัฐตามลำดับ มีระดับความความคาดหวังและการรับรู้หลักสูตรการท่องเที่ยวชุมชนและการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชนในภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยประเด็นที่มีระดับความคาดหวังในระดับมากที่สุด คือ ด้านการมีหลักสูตรที่หลากหลาย และด้านการรองรับมาตรฐานและคุณวุฒิ รองลงมา  คือ ด้านการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน ส่วนประเด็นที่มีระดับการรับรู้มากที่สุด คือ ด้านความพร้อมของหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนในชุมชน รองลงมา คือ ด้านองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะของชุมชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการจัดการให้สอดคล้องตามบริบทเชิงพื้นที่ และกลุ่มเป้าหมาย สู่การเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชนภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานต่อไป 

Article Details

บท
บทความวิจัย