การให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาตรีในการแก้ไขปัญหาสำหรับนิสิตสาขาวิชาธุรกิจและคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้แต่ง

  • เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สุชาวดี เกษมณี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
  • พรพนา วัฒนเสรี โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา

คำสำคัญ:

อาจารย์ที่ปรึกษา, การให้คำปรึกษา, ปัญหาที่นิสิตประสบ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและการให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหานิสิตปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจและคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในด้านการเรียน ด้านความประพฤติ/การใช้ชีวิต และด้านเศรษฐกิจครอบครัว ประชากรที่ศึกษาคือนิสิตระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจและคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาอาชีวศึกษา ที่อยู่ในการดูแลและรับผิดชอบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาประจำตัวนิสิตระดับปริญญาตรี จำนวน 18 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบบันทึกการอภิปรายประเด็นปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาจากการอภิปรายพบปะระหว่างนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาในช่วงสัปดาห์ศิษย์พบครู วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบคือ ค่าความถี่ (Frequency) สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะปัญหาและการแก้ไขปัญหาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า นิสิตส่วนใหญ่มีเกรดเฉลี่ยสะสมระหว่าง 3.00-3.49 และรายวิชาที่นิสิตถอนมากที่สุดคือ General Accounting สภาพปัญหาที่นิสิตประสบมีใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเรียน ด้านความประพฤติและการใช้ชีวิต และด้านฐานะทางเศรษฐกิจแนะแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการเรียนคือ นิสิตควรนำ “หลักอิทธิบาท 4 ตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” มาปฏิบัติเพื่อนำมาสู่การประสบความสำเร็จในการเรียน และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการปรับตัวและการใช้ชีวิต คือ นิสิตควรนำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษามาพัฒนาตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้เกิดความสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความคิดที่จะนำมาปฏิบัติที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติด้วยการใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล รักษาความดีและดำรงตนเป็นคนดี ที่สามารถดำรงตนและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านฐานะทางเศรษฐกิจ คือ นิสิตควรใช้เทคนิคการบริหารจัดการการเงินด้วยกระบวนการบริหารเชิงระบบ PDCA (Plan Do Check Action) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดทั้งของตนเองและของครอบครัว

Downloads