ความตระหนักต่อโลกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากการจัดการเรียนรู้ ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม

ผู้แต่ง

  • ศันสนีย์ ตาทิน สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
  • สุมาลี กาญจนชาตรี ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
  • พรพรรณ พรศิลปะทิพย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

คำสำคัญ:

ความตระหนักต่อโลก, การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยีและสังคม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความตระหนักต่อโลกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 18 คน ที่ศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม เรื่องปิโตรเคมี ในปีการศึกษา 2557 โดยใช้แบบวัดความตระหนักต่อโลกที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน คำนวณเป็นร้อยละ คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ และคะแนนเฉลี่ยในแต่ละตัวชี้วัดทั้งก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ ร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาข้อมูลที่ได้จากบันทึกหลังการจัดการเรียนรู้ของครูและอนุทินของนักเรียน ผลการศึกษาพบว่าเมื่อได้เรียนรู้จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม เรื่องปิโตรเลียม นักเรียนจำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 94.44 มีคะแนนความตระหนักต่อโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยก่อนจัดการเรียนรู้มีนักเรียนที่มีคะแนนความตระหนักต่อโลกสูงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ระดับดีมากเพียง 3 คน หรือ ร้อยละ 16.67 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด แต่หลังจากการจัดการเรียนรู้มีนักเรียนในเกณฑ์ระดับดีมากเพิ่มขึ้นเป็น 15 คน หรือ ร้อยละ 83.33 และคะแนนเฉลี่ยความตระหนักต่อโลกของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัดที่ศึกษา ลักษณะการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความตระหนักต่อโลกในเรื่องปิโตรเคมี คือ การจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้มีการตัดสินใจเข้าร่วมการรณรงค์ทางสังคม ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา และเสนอโครงการเพื่อป้องกัน/ลดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยครูควรให้นักเรียนได้อภิปรายร่วมกัน ตั้งคำถาม สืบค้นข้อมูล นำเสนอคำตอบ และทำงานเป็นกลุ่ม งานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อครูในการนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความตระหนักต่อโลกของนักเรียนต่อไป

 

Downloads