ความสัมพันธ์ระหว่างความมีกัลยาณมิตรกับการให้อภัย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง กรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
การให้อภัย, ความมีกัลยาณมิตร, นักเรียนบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาระดับความมีกัลยาณมิตร 4 กลุ่ม คือ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน และสื่อ และระดับการให้อภัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง กรุงเทพมหานคร 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความมีกัลยาณมิตรกับการให้อภัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 107 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวัดที่มีลักษณะเป็นมาตรประเมินค่า จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ แบบวัดการให้อภัย มีค่าเชื่อมั่น แบบแอลฟ่า เท่ากับ .935 และแบบวัดฉันกับบุคคลรอบข้าง ซึ่งวัดความมีกัลยาณมิตร 4 ส่วน คือ ผู้ปกครองของฉัน ครูของฉัน เพื่อนของฉัน และสื่อในชีวิตประจำวันของฉัน มีค่าเชื่อมั่นแบบแอลฟ่า เท่ากับ .867 .926 .869 และ .781 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน(Pearson’s Correlation Coefficient) ผลการวิจัยพบว่า
1) ระดับความมีกัลยาณมิตรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ได้รับจากผู้ปกครอง (M = 4.87, SD = .566) และครู (M = 4.58, SD = .742) อยู่ในระดับมาก ได้รับจากเพื่อน (M = 4.42, SD = .664) และสื่อ (M = 4.35, SD = .572) อยู่ในระดับปานกลาง
2) ระดับการให้อภัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ในระดับค่อนข้างจะให้อภัย (M = 4.64, SD = .793)
3) ความมีผู้ปกครอง ครู และเพื่อนเป็นกัลยาณมิตรมีความสัมพันธ์กับการให้อภัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ .01 ส่วนความมีสื่อเป็นกัลยาณมิตรไม่พบความสัมพันธ์กับการให้อภัยของ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความทุกบทความเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์ (Kasetsart Educational Review)