Vol. 22 No. 1 (2010): วัยรุ่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม
บทความต่างๆ ที่รวมตีพิมพ์อยู่ในวารสารสังคมศาสตร์ ฉบับพิเศษ:วัยรุ่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม เล่มนี้ ถือเป็นความพยายามที่จะเปิดพรมแดนความรู้และนำเสนองานศึกษาเกี่ยวกับวัยรุ่น/วัฒนธรรมวัยรุ่น ตลอดจนวิธีการศึกษาในมิติใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องโยงใยไปกับชีวิตวัยรุ่นและวัฒนธรรมสมัยนิยม เนื้อหาของบทความและงานศึกษาวิจัยที่รวมตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่ (1) แนวคิดทฤษฎีและวิธีการศึกษาวัยรุ่นและวัฒนธรรมสมัยนิยมที่รวบรวมสังเคราะห์ขึ้นมาพอสังเขปโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (2) งานศึกษาชีวิตวัฒนธรรมของวัยรุ่นกลุ่มต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ (ในแนวมานุษยวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา) ที่ไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องของวัยรุ่นจากเขตชนบท ทว่ายังมีเรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาม้ง และเยาวชนปกาเกาะญอ (ในบทความของ Anjalee Cohen, มยุรินทร์ บุญพิทักษ์ และจุไรพร จิตพิทักษ์ตามลำดับ) รวมจนไปถึง (3) เรื่องของแฟนคลับทีมสโมสรฟุตบอลในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สังคมหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในแวดวงวัยรุ่นศึกษา (ในบทความของสายชล ปัญญชิต) และ (4)เรื่องของสื่อสมัยใหม่ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับชีวิตประจำวันของเยาวชนคนหนุ่มสาว ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่กล้องวิดิโอที่กลายเป็นอุปกรณ์ผลิตสารคดีชุมชนของ “กลุ่มละอ่อนยอง” (ในบทความของอภินันท์ ธรรมเสนา) อุปกรณ์ดนตรีที่เป็นทั้งเครื่องมือหากินและสิ่งประดิษฐ์สร้างพื้นที่ทางสังคมแห่งการต่อรองต่อต้านในบริบทของอุตสาหกรรมบันเทิง (ในบทความของอธิป จิตตฤกษ์) และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่ทั้งอุตสาหกรรมเพลงและสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทปฏิทินและนิตยสาร กลายเป็นพื้นที่แห่งการสถาปนาอำานาจภาพลักษณ์ และความงามของหญิงสาวในสังคมลาวยุคหลังสังคมนิยม (ในบทความของ Warren Mayes) แน่นอนว่า เนื้อหาต่างๆ จากงานเขียนที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ คงไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในมิติอื่นๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการศึกษาชีวิตวัฒนธรรมของวัยรุ่น (ดังที่ได้พยายามทบทวนมาพอสังเขปข้างต้น) ทว่าก็ถือเป็นการพยายามบุกเบิกครั้งสำคัญที่จะขยายพรมแดนความรู้ทางด้าน “วัยรุ่นศึกษา” ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางจริงจังในแวดวงสังคมศาสตร์ไทย