มาตรการการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีความชำรุดบกพร่องที่เกิดหลังการส่งมอบสินค้า

Main Article Content

นพพรศิริ เหลืองาม

บทคัดย่อ

           ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความชำรุดบกพร่องในมาตรา 472 ถึงมาตรา 474     นั้นมีบทบัญญัติที่ตีความ ความชำรุดบกพร่องไว้อย่างกว้างมากอีกทั้งยังสามารถยกเว้นความรับผิดดังกล่าวได้อีก  จึงเป็นภาระการพิจารณาความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลังส่งมอบสินค้า ซึ่งตามมาตรา 472 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดลักษณะทั่วไปของทรัพย์ชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดไว้อย่างกว้าง ๆ ว่าบรรดากรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดการเสื่อมราคาหรือเสื่อมความมุ่งหมายแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่เสื่อมราคาหรือเสื่อมความมุ่งหมายแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายโดยสัญญา นอกจากนี้ความชำรุดบกพร่องนี้ต้องมีอยู่ก่อนหรือตั้งแต่เวลาซื้อขาย หากความชำรุดบกพร่องมีขึ้นภายหลังอาจกลายเป็นกรณีผิดสัญญาหรือเป็นกรณีที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินที่ไม่ถูกต้อง หรือกลายเป็นเรื่องการรับโอนความเสี่ยงภัยในภัยพิบัติแล้วแต่กรณีแต่ไม่ใช่กรณีที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์ชำรุดบกพร่อง


           ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ความผิดในความชำรุดบกพร่องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การดำเนินกระบวนการทางกฎหมายของผู้ซื้อเกิดปัญหา กล่าวคือ  ในการพิสูจน์ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นนั้นต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิศวกรรม เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะสามารถพิสูจน์ความรับผิดของผู้ขายสินค้าได้จึงส่งผลให้ปัจจุบันแม้จะมีการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าแต่ก็เป็นการยากในการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้บริโภคซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่ภาระการพิสูจน์ดังกล่าวนั้นเป็นของผู้ขายสินค้ามิใช่เป็นภาระในการพิสูจน์ของผู้บริโภค โดยผู้ขายจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนมิได้ก่อให้เกิดความขำรุดบกพร่องนั้นขึ้น มิฉะนั้นจะเป็นข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดว่าผู้ขายเป็นผู้ก่อให้เกิดความชำรุดบกพร่อง


           จะเห็นได้ว่าในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าชื่อ Lemon Law กล่าวคือ เป็นคำแสลงอันบ่งบอกถึงการซื้อสินค้าซึ่งมีลักษณะที่เสียหายแม้จะมีการซ่อมแซมแต่ก็ยังคงเสียหายอยู่เช่นเดิม ซึ่งกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้นใช้กับสินค้าประเภทรถยนต์ กล่าวคือ รถซึ่งมีลักษณะที่เกิดความชำรุดบกพร่องภายหลังส่งมอบเมื่อผู้บริโภคตรวจพบผู้ขายจะต้องรับผิดในการซ่อมแซมหรือการให้ผู้บริโภคสามารถยกเลิกสัญญาโดยลดส่วนความเสื่อมราคาจากการใช้งานของผู้บริโภคให้สิทธิผู้ซื้อสินค้าซึ่งเกิดความชำรุดบกพร่องภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากที่ซื้อสินค้านั้น สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ หรือให้ผู้ขายคืนเงินที่ซื้อได้ ทั้งนี้ภาระการพิสูจน์นั้นเป็นของผู้ขายที่จะต้องพิสูจน์ว่าตนมิได้ก่อให้เกิดความชำรุดบกพร่องแก่สินค้านั้น และในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าใหม่เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมายในประทศเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตของการแข่งขันในโลกโดยได้แก้ไขความรับผิดในความชำรุดบกพร่องใหม่ด้วย


          ดังนั้น สินค้าซึ่งเกิดความชำรุดบกพร่องจากการผลิตนั้นเป็นสินค้าประเภทที่ไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม แนวทางในการแก้ไขปัญหาของการซื้อขายสินค้าดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ประกันภัยสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นการโยนภาระความเสี่ยงภัยในความรับผิดให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายในประเทศไทยเพื่อเป็นการแก้ไขความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องในสินค้าภายหลังการส่งมอบ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเป็นการลดคดีในศาลเนื่องจากหากมีการแก้ไขความเสียหายโดยทางอื่นโดยไม่ต้องใช้อำนาจศาลย่อมส่งผลให้ความสัมพันธ์ในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบกิจการและผู้บริโภคดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าและเป็นการแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้จบได้ จึงเห็นควร ให้มีการแก้ไขกฎหมายอันเกี่ยวกับความรับผิดในความชำรุดบกพร่องใหม่โดยศึกษาจากกรณีการซื้อขายสินค้าสินค้าซึ่งเกิดความชำรุดบกพร่องภายหลังส่งมอบ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2542). ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในสัญญาซื้อขาย. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

กุศล บุญยืน. (2530). คำอธิบายสรุปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย ขายฝาก เช่าทรัพย์ เช่าซื้อประกันภัย. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.

คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคสภาปฏิรูปแห่งชาติ. (2557). วาระปฏิรูปที่ 31: การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่อง “ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าและร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... ”. กรุงเทพฯ: คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคสภาปฏิรูปแห่งชาติ.

ชัญญา ชมพูแสง. (2555). ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องคดีให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ใหม่. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์).

อนันต์ จันทรโอภากร. (2545). กฎหมายว่าด้วยความรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ขาดความปลอดภัย (Product Liability Law). กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

The Honorable Roger J. (1944). Trayn or Collection. University of California, Hastings College of the Law UC Hastings Scholarship Repository.