การจัดการความเสี่ยงทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยุทธศาสตร์ชาติ และสัญญะนโยบายเชิงประชานิยมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

Main Article Content

ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว

บทคัดย่อ

วิกฤตการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2557 ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนภายใต้ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพมากนัก จนนำไปสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยทหารได้ใช้ข้ออ้างสำคัญจากความวุ่นวายของสังคมที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น เป็นเหตุผลในการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองด้วยการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 ทหารได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์พร้อมทั้งเถลิงอำนาจแต่งตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และยังมีความพยายามในการสร้างเงื่อนไขกลไกต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของตนภายหลังการเลือกตั้งอีกด้วย บทความวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการความเสี่ยงทางการเมืองและการวางแผนสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการต่างๆ ตามวิถีทางประชาธิปไตยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี พ.ศ. 2557-2562 ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่สืบค้นมาจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ และจัดทำเป็นบทสรุปทางวิชาการต่อไป โดยพบว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและยังมีการสร้างเครื่องมือผ่านกลไกเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการประชารัฐที่มีลักษณะสัญญะนโยบายเชิงประชานิยม ที่เอื้อผลประโยชน์ต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลชนชั้นนำในสังคม โดยได้นำไปยึดโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ ที่ได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ มีความจำเป็นต้องบูรณาการให้มีความสอดคล้องกันอย่างมีนัยเชิงนโยบายกับโครงการประชารัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังได้วางกลไกเงื่อนไขการดำเนินการเชิงนโยบายไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้สามารถสานต่อนโยบายของตนได้อย่างง่ายดายภายหลังการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ. 2562 และแล้วผลก็ปรากฏว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองนอมินีของทหารสามารถรวบรวมคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ จนกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมและทำการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตนได้สำเร็จ แต่เปลี่ยนสถานะจากรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ภายใต้ความชอบธรรมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ สำหรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ก็เป็นไปในลักษณะเชื่อมโยงกับรัฐบาลเดิมอย่างไร้ร่องรอย เพราะเป็นรัฐบาลชุดเดียวกันที่มาจากการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารในยุคก่อนหน้านี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรังสรรค์นโยบายใหม่ใดๆ ขึ้นมา เพียงแค่ดำเนินการสานต่อโครงการประชารัฐเดิม ที่เคยดำเนินการไว้ในยุคเรืองอำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็สามารถบริหารจัดการนโยบายที่ปรากฏได้อย่างต่อเนื่องแล้ว

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

กรมสอบสวนคดีพิเศษ. (2557). ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562, จาก https://www.dsi.go.th/th/Detail/ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย--๑๗-เมษายน-๒๕๕๗

กิตติพงษ์ พิพิธกุล. (2563). รัฐประศาสนศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ภายใต้บริบทของญาณวิทยา. วารสารวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 10(2),151-164.

คมชัดลึกออนไลน์. (2561). “โพล คสช.” เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562, จาก http://www.komchadluek.net/news/politic/308137#

ไทยรัฐออนไลน์. (2557). รวมประกาศ'กฎอัยการศึก'ของกอ.รส.. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562, จาก https://www.thairath.co.th/content/424255

_______. (2561). กกต. รับจดแจ้งตั้งพรรคแล้ว 15 พรรค คาดหลังสงกรานต์มีเพิ่มอีก. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562, จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1254592

พิกุล สุพนาม, เนติมา ใคร้มุกข์ และ ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว. (2563). สัญญะเชิงนโยบายภายใต้แนวคิดสู่การปฏิบัติในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.): การบูรณาการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยุทธศาสตร์ชาติ พรรคพลังประชารัฐ และนโยบายเชิงประชานิยม. วารสารนิติ รัฐกิจ และสังคมศาสตร์, 4(1), 109-129.

ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว. (2562). โครงการประชารัฐ: นโยบายเชิงประชานิยมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.). วารสารบริหารรัฐกิจ, 3(1),113-139.

ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว, นพดล วันดี, อัจฉรา อุทแยง และ วิรุฬห์สิริ วงศ์ประเสริฐ. (2561). การจัดการความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ศ. 2557-2561. วารสาร มจร พุทธปัญญาปริทรรศน์, 3(1),75-94.

สราธร บุญสิทธิ์ และ พีระ จิรโสภณ. (2561). บทบาทหนังสือพิมพ์ไทยในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง: กรณีวิกฤตทางการเมืองช่วง พ.ศ. 2557. วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์, 12(1),393-421.

iLaw. (2560). เส้นทางการร่างรัฐธรรมนูญคสช.: ผ่านประชามติ แก้เพิ่มอีก 4 ครั้ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562, จาก https://ilaw.or.th/node/4473

MGR ONLINE. (2557). คสช.แจกใบปลิว 10 เหตุผลทำรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยฯ. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562, จาก https://mgronline.com/politics/detail/9570000061701

THE STANDARD. (2562). 22 พฤษภาคม 2557 – ครบรอบ 5 ปี รัฐประหารโดย คสช.. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562, จาก https://thestandard.co/onthisday22may2557/