ผลของการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้เชิงรุกที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์และสมาธิ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาธุรกิจการโรงแรม

Main Article Content

ปิยะดา ศรีบุศย์ดี

บทคัดย่อ


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลของการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้เชิงรุกที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์และสมาธิของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาธุรกิจการโรงแรม ในรายวิชาภาษาจีน 2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์และสมาธิของนักศึกษาระหว่างช่วงก่อนและหลังที่เรียนด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกในรายวิชาภาษาจีน 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกในรายวิชาภาษาจีน         ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการโรงแรม โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาภาษาจีนเชิงวิชาชีพ จำนวน 64 คน เครื่องมือวิจัยที่ใช้ประกอบด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกในรายวิชาภาษาจีน แบบทดสอบวัดระดับความคิดสร้างสรรค์ทางภาษา แบบสังเกตการมีสมาธิ และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษามีระดับความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าช่วงก่อนการเรียนด้วยกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 อีกทั้ง ยังแสดงให้เห็นว่านักศึกษามีสมาธิจดจ่อกับการเรียนสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนการเรียนด้วยกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้เชิงรุกสามารถเสริมสร้างพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์และสมาธิของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังพบว่านักศึกษามีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกในระดับมาก (μ= 4.46) และต้องการให้จัดกิจกรรมนี้อีกต่อไปในระดับมากที่สุด (μ = 4.63)


Article Details

บท
บทความวิจัย