สวัสดีปี 2561/2018 และพร้อมๆกันกับปีใหม่นั้น เราก็กำลังอยู่ในช่วงเวลาใหม่ในทางธรณีวิทยาด้วย Paul J. Crutzen ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ได้เสนอว่า นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โลกได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ชื่อว่า Anthropocene หรือ ช่วงเวลาทางธรณีที่ “มนุษย์” เป็นผู้กระทำให้เกิดขึ้น หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาตามธรรมชาติไม่ นี่อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกใหม่และน่าตื่นตาในทางวิทยาศาสตร์ แต่ในทางสังคมศาสตร์นั้นมนุษย์ถูกวางตัวอยู่ในฐานะองค์ประธานมาอย่างยาวนาน นานเสียจนเกิดกระแสโต้กลับให้หันมาพิจารณาเส้นแบ่งและบทบาทของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์กันอย่างจริงจัง การโต้กลับที่ว่านี้เราอาจคุ้นเคยกันในชื่อ Post-humanism ซึ่งแม้อาจแตกย่อยได้อีกหลายแขนง แต่ล้วนมีความสนใจร่วมกันในสิ่งที่พ้นออกไปและไม่ใช่มนุษย์ หรือจะเรียกว่า Non-Human อันเป็นหัวข้อของวารสารนี้ก็ไม่ผิดนัก
ในปีที่ผ่านมานับเป็นโชคดีที่ Philippe Descola นักคิดคนสำคัญในเรื่องเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้มาบรรยายประเด็นเหล่านี้ในประเทศไทย และได้ช่วยกระตุ้นความสนใจที่เพิ่งมีได้ไม่นานและไม่มากนักในแวดวงวิชาการให้ตื่นตัวขึ้นเพื่อขบคิดเกี่ยวกับเส้นแบ่งอันเป็นปริศนาดังกล่าว แต่การตื่นตัวต่อแนวคิดเช่นนี้ย่อมมาพร้อมกับความตระหนักว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสังคมที่แม้แต่ความเป็นมนุษย์ยังเป็นเรื่องคลุมเครือ เพราะเนื้อแท้ของมันคือการทบทวนไปถึงรากฐานความรู้เกือบทั้งหมดที่เรามีเกี่ยวกับตัวเรา และเก่าแก่เสียจนอาจนับย้อนได้ไปถึงอริสโตเติล ผู้ซึ่งลากเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ผ่านคุณลักษณะสำคัญที่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นจะครอบครองได้ซึ่งก็คือ “Logos” (การคิด, ถ้อยคำ ฯลฯ) วารสารในมือท่านเล่มนี้จึงนับเป็นความกล้าหาญที่แปลกประหลาดและลักลั่นอย่างยิ่งที่มนุษย์จะใช้ “สิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” มาทบทวนเส้นแบ่งระหว่างทั้งคู่อีกครั้ง
บทความที่นำเสนอในวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 ในหัวข้อ Non-Human เล่มนี้ ต่างก็เป็นข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างหลากหลายมิติ เริ่มต้นด้วยพหุวิทยาในโลกคู่ขนาน ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ของ พนา กันธา และการขยายข้อถกเถียงต่อยอดจาก Philippe Descola ในมิติ Political Ecology ของ Francesco Carpanini จากนั้นหันมาพิจารณาในมิติสังคมไทยด้วย สิ่งที่ไม่ใคร่จะใช่มนุษย์ในจิตนิยม ประวัติศาสตร์และศาสนาพุทธ ของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ เจ้าแม่ตะเคียนกับวัฒนธรรมบริภาคแบบไทย ของ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ รวมถึงเมื่อเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และสัตว์เลือนลางในกรอบเศรษฐกิจและรัฐชาติ ของ กมเลศ โพธิกนิษฐและคณะ ตามด้วย สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในสายตาชิเชคของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย และปิดท้ายด้วยการศึกษาการทำให้ไม่เป็นการเมือง ของ Theerapat Ungsuchaval ซึ่งก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาการทำให้ไม่เป็นมนุษย์รวมถึงสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้อย่างรอบด้าน
นอกจากวารสารเล่มนี้จะประกอบไปด้วยบทความที่มีเนื้อหาภายใต้หัวข้อดังกล่าวแล้วยังมีบทความทั่วไปที่น่าสนใจอย่าง เหตุผลของการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทสากล ของ พบสุข ช่ำชอง The Rise of Antagonism: The Chiang Mai Province People’s Network for Self Governing Administration and its reaction against the hegemonic centralizing state ของ Prin Nithat-ek และ ตัวแบบการวิเคราะห์ภาวะเจริญพันธุ์ในช่วงภาวะเจริญพันธุ์ต่ำของประเทศไทย ของ ธนานนท์ บัวทอง และ วิราภรณ์ โพธิศิริ อีกด้วย
ท้ายที่สุด... Bruno Latour ได้เสนอไว้ในการถกเถียงกับ Steve Fuller ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับ Non-Human ในแวดวงวิชาการ ก็เป็นเสมือนโปรแกรมเสริม (Plug-ins) ที่จะเพิ่มความสามารถให้กับโปรแกรมหลักของคอมพิวเตอร์ แน่นอนการมีโปรแกรมหลักเพียงอย่างเดียวก็ย่อมทำงานได้ แต่ Plug-ins จะช่วยให้เห็นรูปหรือภาพเคลื่อนไหวอื่นๆที่ปกติไม่อาจมองเห็น ดังนั้นเราก็หวังเพียงว่าวารสารฉบับนี้จะกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านลองไปหา Plug-ins ที่ชื่อว่า Non-Human นี้มาเพื่อเพิ่มเติมภาพเคลื่อนไหวใหม่ๆให้กับพื้นที่ทางวิชาการต่อไป
Published: 2019-08-13