ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 (2567): วารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

					ดู ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 (2567): วารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

วารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฉบับที่สอง เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม พ.ศ.2567 ในการดำเนินงานด้านวารสารวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถานะคุณภาพของวารสารฯ รอบปัจจุบันปรากฏรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ในกลุ่ม 2

สำหรับบทความที่ผ่านกระบวนการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ในฉบับนี้มีทั้งสิ้น 4 เรื่อง ได้แก่ (1) บทความวิชาการ เรื่อง การศึกษาแนวทางการใช้แชทบอทเพื่อช่วยลดความเครียดในกลุ่มนักศึกษา โดย ชนัญญา  สร้อยทอง เป็นบทความวิชาการ ที่นำเสนอเกี่ยวกับแชทบอทสามารถช่วยลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำแชทบอทมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือนักศึกษาในการจัดการความเครียด บทความเรื่องที่สอง เป็นบทความวิจัย เรื่อง การประเมินหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดย กิติกร ทิพนัด และคณะ ได้ประเมินหลักสูตรโดยประยุกต์ใช้ CIPP Model ทำให้ได้ข้อสรุปมาเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงหลักสูตรให้ ทันสมัย เหมาะสมต่อสภาพสังคม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพื่อให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน บทความเรื่องที่สาม เป็นบทความวิจัย เรื่อง ผลการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาเรื่อง เตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธนาคารออมสิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดย สันติ ทองสงฆ์ และคณะ นำเสนอเกี่ยวกับการเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ตามขั้นตอนการแก้ปัญหาของเวียร์ (Weir) และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ หาความรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา  โดยบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) กับนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ ซึ่งวิธีสอนแบบสืบเสาะตามแนวคิดสะเต็มศึกษาจะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่สูงขึ้น สำหรับบทความสุดท้าย เป็นบทความวิจัย เรื่อง แรงจูงใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยในการเดินทางท่องเที่ยว จังหวัดแพร่ โดย อำนวยพร ใหญ่ยิ่ง และคณะ ได้วิเคราะห์ลักษณะด้านประชากรศาสตร์และแรงจูงใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยในการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ใช้ทฤษฎีแรงจูงใจปัจจัยผลัก (Push Factors) และปัจจัยดึง (Pull factor) สามารถใช้การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและวางแผนพัฒนาในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อการรองรับนักท่องเที่ยว และแนวทางการพัฒนาสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ในอนาคต

กองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่ส่งบทความเข้ามารับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่และขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviews) ทุกท่านที่ได้พิจารณาบทความให้ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาบทความมีความสมบูรณ์ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ความถูกต้องทางวิชาการและคุณภาพการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเข้มข้น ท้ายนี้กองบรรณาธิการหวังว่าวารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มคุณภาพทางวิชาการให้กับสังคมและเป็นส่วนช่วยให้นักวิจัย ผู้สนใจทั้งหลายได้ศึกษาข้อมูล อันจะต่อยอดสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าในวงวิชาการของชาติต่อไป

อนึ่งทางวารสารฯ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภรัตน์ อินทนิเวศ อาจารย์ประจำโปรแกรมศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายและศิลปินเชียงราย  ที่ให้ความอนุเคราะห์ผลงานชื่อ “ชูช่อรับอรุณ 1” เพื่อขึ้นเป็นภาพปกให้กับวารสารฯ ในฉบับนี้

ผลงาน “ชูช่อรับอรุณ 1” โดย ศุภรัตน์ อินทนิเวศ (2562) มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน กล่าวคือ " ... แสงอ่อน ๆ ของยามเช้าไล้ลงบนกลีบดอกทิวลิปสีขาวนวลตา ดอกไม้ที่เธอชื่นชอบเพราะรูปทรงอ่อนช้อยและสีสันบริสุทธิ์สะอาดตา ดอกทิวลิปนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความงามอันนุ่มนวล แต่แฝงด้วยความเปราะบาง กลีบอวบอิ่มเรียงตัวอย่างงดงาม ทว่าสัมผัสเบากว่าลม คอยอ้อนให้ดูแลด้วยความรัก ความเอาใจใส่เสมอ ต้องการทั้งความเย็นสดชื่นและความชุ่มฉ่ำอย่างไม่ขาดสาย แม้ก้านอ่อนที่รองรับดอกจะดูบอบบาง แต่กลับพยุงดอกให้ตั้งตรง เผชิญหน้ากับสายลมและฝนอย่างไม่สะทกสะท้าน กลีบเบ่งบานท้าแสงอาทิตย์ สะท้อนถึงความหวัง ความเข้มแข็งที่แฝงอยู่ในความงามอันเรียบง่าย แต่ทรงพลัง เมื่อทอดสายตาออกไปเห็นทิวทัศน์กว้างไกล ดอกทิวลิปสีขาวยังคงโดดเด่นด้วยเส้นสายที่เคลื่อนไหวอย่างแผ่วเบา แสงและสีของมันถ่ายทอดความสมจริงและความเป็นธรรมชาติได้อย่างงดงาม ราวกับดอกไม้เหล่านี้กำลังส่งยิ้มให้กับสายลมและแสงแดด แบ่งปันความสุขและความสงบในหัวใจของผู้ที่ได้ยล ... "     

          ปัจจุบันผลงาน “ชูช่อรับอรุณ 1” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภรัตน์ อินทนิเวศ  ได้สูญหายไปกับกระแสน้ำ เหตุน้ำท่วมเชียงรายปี 2567

เผยแพร่แล้ว: 19-12-2024

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย