การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม กรณีศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาของชุมชนบ้านยางน้อย ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ระหว่าง พ.ศ. 2528-2560

Main Article Content

ไกรสร แสนมืองชิน

บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จากการประกอบอาชีพเพาะพันธุ์ปลาของชาวบ้านยางน้อย  ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ระหว่าง พ.ศ.2528-2560 กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้รู้ในหมู่บ้าน  ผู้ประกอบอาชีพเป็นตัวแทนจำหน่าย เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรของรัฐที่ให้การสนับสนุนและเกี่ยวข้อง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง รวมทั้งการสังเกต แล้วนำเสนอผลการศึกษาด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์


           ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 ก่อนพ.ศ.2528  โดยภาพรวม พบว่า ชาวบ้านยางน้อยประกอบอาชีพทำนา โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เป็นการทำนาแต่พอกินพอใช้เป็นการทำนาตามแบบแผนที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก มีลักษณะตามแบบชุมชนอีสานทั่วๆ ไป ซึ่งเหมือนกันทุกครัวเรือนปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตยังสามารถพึ่งพาธรรมชาติได้เกือบครบวงจร เป็นไปตามแบบสังคมเกษตรดั้งเดิมเมื่อหมดฤดูกาลทำงานหรือรอต้นกล้าโต ชาวบ้านบางคนก็ไปรับจ้างหาเงินมาจุนเจือครอบครัวที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ส่วนคนที่ไม่ไปก็อยู่บ้านเลี้ยงลูกหลาน


          ช่วงที่ 2 พ.ศ.2528- พ.ศ.2542 โดยภาพรวม พบว่า ชาวบ้านยางน้อยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและทำอาชีพรองคือการเพาะพันธุ์ปลา เริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2528 หลังจากที่โครงการชลประทานหนองหวาย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นได้ทำโครงการชลประทานผ่านอำเภอโกสุมพิสัย ชุมชนบ้านยางน้อยมีคลองชลประทานเขื่อนหนองหวายไหลผ่านทิศตะวันตก ทิศเหนือและตอนกลางของหมู่บ้านทำให้พื้นที่บริเวณรอบหมู่บ้านเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและการเพาะพันธุ์ปลาเพื่อส่งขายทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพหลักจากอาชีพเกษตรกรรมเปลี่ยนมาประกอบอาชีพเพาะพันธ์ปลาจำหน่ายแทนจากนั้นกิจการก็เติบโตขยายวงกว้างขึ้น จากการประกอบอาชีพเพาะพันธุ์ปลา จำหน่ายกันทั้งในตำบลและตำบลใกล้เคียง จนทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นและร่ำรวยขึ้นดังนั้นชาวบ้านจึงยึดเป็นอาชีพหลัก การเพาะพันธุ์ปลาเพื่อจำหน่ายได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านยางน้อยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ เนื่องจากรูปแบบและวิธีการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลา การดูแลรักษา การจำหน่าย รายได้ รายจ่ายต่างๆ วิธีการติดต่อทางการค้าเพื่อขายปลาและมีการแขงขันการสะสมเครื่องอำนวยความสะดวกภายในครอบครัว มีการเปิดกิจการต่างๆในชุมชนไม่ว่าจะเป็นร้านค้าประเภทต่างๆ เช่นร้านซ่อมรถยนต์/รถมอเตอร์ไซค์ ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านขายอาหารตามสั่ง ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ


          ช่วงที่ 3 พ.ศ.2543-พ.ศ.2560 โดยภาพรวม พบว่า เป็นช่วงที่มีการขยายกิจการและการลงทุนของ    ผู้ประกอบอาชีพเพาะพันธุ์ปลา ทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเงินเก็บออมในรูปแบบอื่นๆเช่นการลงทุน การขยายกิจการ ซื้อทรัพย์สินอื่นๆเช่น รถยนต์ ทองรูปพรรณ ที่ดิน ขยายที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และให้ญาติพี่น้องกู้ยืม เพราะมีรายได้มากขึ้นจากการขายลูกปลา การคมนาคมสะดวกมากกว่าในอดีตทำให้ลูกค้ามาซื้อปลาได้ที่หน้าฟาร์ม ผลกำไรจึงมีมาก จึงมีการจัดตั้งสหกรณ์ประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโกสุมพิสัยจำกัดขึ้นและมีการอบรม การนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาทำการเพาะเลี้ยงปลา ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล. (2552). ทางเลือกเศรษฐกิจของชาวนาปากพนัง : กรณีศึกษาชาวนาบ้านวัดโบสถ์ ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).

ชลิตา ใจหาญ. (2555). ปัจจัยการบริหารที่ส่งผลสำเร็จในการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพ ตามโครงการ เศรษฐกิจชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าชาง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย.
(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย).

ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ และสุขเกษม ลางคุลเสน. (2553). การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการกลุ่มแบบมีส่วนร่วมของวิสาหกิจชุมชนเพาะและแปรรูปเห็ดบ้านสวนแม่วะ ตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง (ชุดโครงการ). ลำปาง: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง.

ถาวร คำพีระ. (2551). การเปลี่ยนแปลงและกระบวนการปรับตัวทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาบ้านแก่งไฮ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย).

พุทธินันทน์ บุญเรือง. (2556). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์).

สหกรณ์ประมงตำบลยางน้อย. (2555). โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแก่สหกรณ์ประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโกสุมพิสัย ณ บ้านยางน้อย ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม. โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประมง มหาวิทยาลัมหาสารคาม.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2539). การศึกษาวิถีชุมชน : รูปแบบและการปฏิบัติโครงการศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของโรงเรียนกับชุมชนในการจัดการศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2534). ผลการดำเนินงานของคณะ สศช. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

สิริวรรณ ผอบแก้ว. (2553). การมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรีชนบทในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนของ ตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญจังหวัดลพบุรี. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี).

สุภาพ สุทธิรักษ์. (2551). การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความเข้มแข็ง กรณีดอกไม้ประดิษฐ์จากใบยางพารา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.