ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (2561): มกราคม - มิถุนายน 2561

					ดู ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (2561): มกราคม - มิถุนายน 2561

บทบรรณาธิการ

            การเผยแพร่กฎหมายที่สื่อถึงปัญหาของสังคมอย่างหลากหลาย เป็นภารกิจสำคัญของวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจ ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทางกฎหมายแก่ประชาชนและเป็นมิติหนึ่งของการแสดงแนวคิดสำหรับนักวิชาการอันนำไปสู่การบูรณาการ ทั้งในส่วนที่เป็นกฎหมายหลัก กฎหมายเฉพาะ เพื่อเกิดเป็นองค์ความรู้สู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

            บทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารฉบับนี้ ประกอบด้วยบทความวิชาการ 5 เรื่องและบทความวิจัย 3 เรื่อง โดยได้นำเสนอบทความวิชาการเรื่อง“ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ซึ่งผู้เขียน   ได้วิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า มีประเด็นขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยในส่วนของการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งจะต้องมีความเป็นอิสระ  มีลักษณะของการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่พบว่าอำนาจทั้งสามส่วน มิได้เป็นไปตามทฤษฎีการเมืองแบบประชาธิปไตย ส่วนบทความวิชาการเรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่37/2560”    ผู้นิพนธ์กล่าวถึงคำสั่งฉบับนี้ว่า ได้แก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา     ด้วยการปลดระยะเวลารักษาราชการแทนอธิการบดีไม่เกิน 180 วัน เป็นไม่มีระยะเวลา  ในระหว่างการดำเนินการสรรหา หรือดำเนินการเพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารมหาวิทยาลัย และเป็นกลไกสำคัญในการธำรงไว้  ซึ่งธรรมาภิบาล ในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา บทความวิชาการถัดมา เรื่อง “ผู้ดูแลสุขภาพนักกีฬาและกฎหมายสหรัฐอเมริกา” ซึ่งผู้ศึกษาได้กล่าวถึง กฎหมายสหรัฐอเมริกาว่าด้วยมาตรฐานของผู้ดูแลสุขภาพนักกีฬาที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพนักกีฬาและสะท้อน ถึงวงการกีฬาไทยที่ควรจะต้องมีผู้ดูแลสุขภาพนักกีฬาให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ต่อมาบทความวิชาการเรื่อง“ประวัติศาสตร์กฎหมายศาลและกระบวนการยุติธรรมของไทย” ผู้เรียบเรียงได้นำเสนอถึง ประวัติความเป็นมาของกฎหมาย ศาล และกระบวนการยุติธรรม ที่มีความสัมพันธ์กับระบบการปกครองในแต่ละยุคสมัยอย่างแนบแน่น การทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ย่อมนำกฎหมายไปใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคม และบทความวิชาการเรื่อง “ธรรมาธิปไตยในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาประชาธิปไตย” ผู้ประพันธ์ได้นำเสนอหลักการว่าธรรมาธิปไตยเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการพัฒนาระบบประชาธิปไตย และเป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐ เพื่อนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

            บทความวิจัยที่เป็นเรื่องสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของกฎหมายในสังคม ได้แก่“มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ” และเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม เนื่องจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ” ซึ่งผู้วิจัยได้เสนอรูปแบบมาตรการความช่วยเหลือผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมไว้อย่างน่าสนใจ

            บทความวิจัยทางสังคมเรื่อง “พฤติกรรมหลังผ่านการบำบัดรักษาของผู้เสพยาเสพติด: กรณีศึกษาเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย” ได้ตอกย้ำถึงปัญหายาเสพติดที่ผู้เสพส่วนใหญ่ไม่สามารถเลิกได้ ถึงแม้จะได้รับการบำบัดรักษามาแล้ว ซึ่งปัญหาในเรื่องนี้ รัฐบาลและทุกภาคส่วนควรต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาผู้เสพยาเสพติดทุเลาเบาบางลงหรือหมดสิ้นไปในอนาคต

            กองบรรณาธิการและผู้จัดทำวารสารหวังอย่างยิ่งว่า บทความที่นำเสนอในฉบับนี้ ช่วยทำความกระจ่างทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองสิทธิของบุคคล ชุมชน ทั้งนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในระดับท้องถิ่น  และระดับชาติ อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ฉัตตมาศ วิเศษสินธุ์

 

 

 

 

 

 

 

 

เผยแพร่แล้ว: 06/16/2018