ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (2566): กรกฎาคม - ธันวาคม 2566

					ดู ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (2566): กรกฎาคม - ธันวาคม 2566

วารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฉบับที่สอง เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ.2566 นี้ เป็นปีที่ 17 ในการดำเนินงานด้านวารสารวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถานะคุณภาพของวารสารฯ รอบปัจจุบันปรากฏรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ในกลุ่ม 2

สำหรับบทความที่ผ่านกระบวนการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ในฉบับนี้มีทั้งสิ้น 6 เรื่อง ได้แก่ บทความเรื่อง “การประเมินการใช้หลักสูตรภัยพิบัติแผ่นดินไหว สำหรับเยาวชนและประชาชนจังหวัดเชียงราย” โดย สุดาพร  ปัญญาพฤกษ์ และคณะ โดยมีเนื้อหาที่นำเสนอถึงผลการประมินคุณภาพการใช้หลักสูตรภัยพิบัติแผ่นดินไหว สำหรับกลุ่มคนทั้งเยาวชน และประชาชนทั่วไปอันจะช่วยเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และเพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรไปใช้ได้ อย่างทันท่วงทีหากเกิดกรณีภัยพิบัติขึ้น บทความต่อมาเป็น “ภูมิทัศน์ทางภาษาของชุมชนเมืองเอก รังสิต จังหวัดปทุมธานี” โดย นภัสสร ปลื้มสุทธิ์ และคณะ ที่นำเสนอผลการศึกษาถึงข้อความ ภาษา และประเภทของป้ายโฆษณาที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งบางครั้งอาจจะถูกมองข้ามไปและบางครั้งป้ายอาจจะดึงดูดความน่าสนใจอย่างน่าฉงน การศึกษานี้จึงจำแนกประเภท และรายละเอียดของป้ายในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ และนำเสนอรายละเอียดมุมมองได้อย่างน่าสนใจ บทความเรื่องที่สาม คือ “องค์ประกอบเรื่องเล่าอาหารเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส” โดย  กิตติพงษ์  มายา และคณะ นำเสนอเรื่องเล่าของอาหารที่โดดเด่นของจังหวัดเพชรบุรี ในแง่ของวัตถุดิบ เส้นทางการรับประทานอาหาร รวมทั้งแรงบันดาลในการสร้างสรรค์จากมิติทางสังคม บทความต่อมาเรื่อง “The Idea of Residential Design of Chinese Dong Nationality” โดย Junhao Lu and Pisit Puntien ที่นำเสนอถึงการศึกษาแนวคิด หลักการของสถาปัตยกรรมประเพณีต้งของชาวจีนแบบดั้งเดิมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ บทความเรื่องที่ห้า “The Application of Traditional Lacquer Carving Technology in Modern Product Design” โดย Junguo Zhao and  Pisit Puntien เป็นการนำเสนอผลการศึกษาคุณลักษณะทางศิลปะและเทคโนโลยีการแกะสลักเครื่องเขินแบบดั้งเดิมของจีน โดยต่อยอดออกแบบ สู่เครื่องประดับและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ให้มีความร่วมสมัย และบทความสุดท้าย  บทความเรื่องที่หก “ความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ของนักศึกษาครูคณิตศาสตร์ชั้นปีที่ 1: ผลจากการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีสรรคนิยม” โดย  วิทยา พูลสวัสดิ์ และ ลือชา ลดาชาติ ที่นำเสนอผลการศึกษารูปแบบการสอนตามทฤษฎีสรรคนิยมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

กองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่ส่งบทความเข้ามารับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ และขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviews) ทุกท่านที่ได้พิจารณาบทความ ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาบทความมีความสมบูรณ์ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ความถูกต้องทางวิชาการ และคุณภาพการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเข้มข้น ท้ายนี้กองบรรณาธิการหวังว่าวารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มคุณภาพทางวิชาการให้กับสังคมและเป็นส่วนช่วยให้นักวิจัย ผู้สนใจทั้งหลายได้ศึกษาข้อมูล อันจะต่อยอดสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าในวงวิชาการของชาติต่อไป

อนึ่งทางวารสารฯ ขอขอบคุณ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเชียงรายที่ให้ความอนุเคราะห์ผลงานชื่อ “แจกัน” เพื่อขึ้นเป็นภาพปกให้กับวารสารฯ ในฉบับนี้

รายละเอียดผลงาน “แจกัน” โดย สมลักษณ์ ปันติบุญ (2566) ศิลปินเชียงราย เป็นงานปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน (Wheel Throwing) มีรูปลักษณ์เป็นแจกันที่มีความร่วมสมัย ลักษณะเป็นงานปั้นดิน เคลือบ ผ่านกระบวนการเผาสองครั้ง ครั้งแรกเผาด้วยบิสกิต (Bisque) จากนั้นนำมาเขียน ขีด ลาย ด้วยเหล็กออกไซด์ (สีดำ) (Ferric Oxide) ให้มีลวดลาย ถ่ายทอดอารมณ์ แฝงความเป็นศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ตามจินตนาการของตนเอง การเครือบครั้งที่สองเป็นการเครือบด้วยหินแร่เฟลด์สปาร์ (Feldspar) หรือแร่ฟันม้า ใช้ไฟในการเผาอุณหภูมิสูง เกรด Stoneware หรือประมาณ 1,250-1,280 องศาเซลเซียส การใช้ไฟสูงนี้ทำให้เกิดการสันดาปไม่สมบูรณ์และทำให้เกิดควันไฟเข้าไปในงาน จะช่วยสร้างมิติให้กับผิวงานทำให้งานน่าสนใจ

ปัจจุบันผลงาน “แจกัน” และผลงานชิ้นอื่น ๆ ของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ จัดแสดงอยู่ที่ Doy Din Dang Pottery ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

เผยแพร่แล้ว: 25-12-2023

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย