ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (2566): มกราคม - มิถุนายน 2566

วารสารการวิจัยกาสะลองคำ ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2566

          วารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฉบับแรกเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี พ.ศ.2566 นี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 ในการดำเนินงานด้านวารสารวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถานะคุณภาพของวารสารฯ รอบปัจจุบันปรากฏรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ในกลุ่ม 2

          สำหรับบทความที่ผ่านกระบวนการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ในฉบับนี้มีทั้งสิ้น 7 เรื่อง ได้แก่ บทความเรื่อง “An Analysis of the Famous Operatic Vocal Duets in Covido the Opera: A Main Performer’s Perspective” โดย เฟื่องลดา ประวัง คาล์สัน โดยมีเนื้อหาในเชิงบทความวิชาการที่นำเสนอเชิงวิเคราะห์อุปรากรที่ผสมผสานระหว่างการใส่เนื้อร้องภาษาไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์และแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้อย่างน่าสนใจ บทความต่อมาเป็น “การศึกษาพฤติกรรมการฟังเพลงของเด็กปฐมวัยยุคใหม่” โดย เพียงแพน สรรพศรี ปรเมศวร์  สรรพศรี วัชรพงษ์ วิชา และเจษฎา อุทุมภา ที่นำเสนอผลการศึกษาเชิงพฤติกรรมที่จะนำไปเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมของเด็กในระดับปฐมวัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแนวคิดการแต่งเพลง การเลือกเพลงมาใช้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี บทความเรื่องที่สาม คือ “ทุนวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนของชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” โดย ฐิติมา อังกุรวัชรพันธุ์ และกิ่งกนก เสาวภาวงศ์ ที่นำเสนอแนวทางการพัฒนาชุมชนที่จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยเรื่องนี้จะเกิดประโยชน์และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อพื้นที่อื่น ๆ ได้ บทความต่อมาเรื่อง การศึกษา  เชิงวิเคราะห์การปรับบทแปลและกลวิธีการแปลจากนวนิยาย เรื่อง “เทวากับซาตาน” โดย ณฐกร ผลเอกประดิษฐ์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการปรับบทแปล และกลวิธีการแปลในนวนิยายเรื่อง “เทวากับซาตาน” โดยนำหลักเกณฑ์ในการปรับบทแปลของ สัญฉวี สายบัว (2560) และ โมนา เบเคอร์ (2535) มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ โดยมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาด้านวรรณกรรมทางมนุษยศาสตร์ บทความเรื่องที่ห้า “การเผยแพร่ศาสตร์พระราชาผ่านสื่อมวลชนกับความเข้าใจและการยอมรับต่อศาสตร์พระราชาของประชาชนในจังหวัดเชียงราย” โดย กรกนก นิลดำ ผลการวิจัยเป็นการนำเสนอแง่มุมของชุมชนต่อแนวคิดความเข้าใจของคนในพื้นที่ต่อการแนวคิดมาปรับใช้ บทความเรื่องที่หก “แนวทางการพัฒนามาตรฐานการผลิตสับปะรดนางแล สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดเชียงราย โดย นุกุล อินทกูล เป็นการนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในพื้นที่ โดยข้อมูลที่ได้สามารถนำไปปรับใช้กับการยกระดับผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี และบทความสุดท้ายของ วิทยา พูลสวัสดิ์ และลือชา ลดาชาติ ที่นำเสนอการศึกษาถึงรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีสรรคนิยมเพื่ออส่งเสริมการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ของนักศึกษาครู

กองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้เขียนทุกท่านที่ส่งบทความเข้ามารับการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ และขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviews) ทุกท่านที่ได้พิจารณาบทความ  ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาบทความมีความสมบูรณ์ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ความถูกต้อง  ทางวิชาการ และคุณภาพการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเข้มข้น ท้ายนี้กองบรรณาธิการหวังว่าวารสารการวิจัยกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มคุณภาพทางวิชาการให้กับสังคมและเป็นส่วนช่วยให้นักวิจัย ผู้สนใจทั้งหลายได้ศึกษาข้อมูล อันจะต่อยอดสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าในวงวิชาการของชาติต่อไป

          อนึ่งทางวารสารฯ ขอขอบคุณ อาจารย์สรัลวลัย ปงกันมูล ศิลปินเชียงราย  ที่ให้ความอนุเคราะห์ภาพเขียนชื่อ “Blue bird” เพื่อขึ้นเป็นภาพปกให้กับวารสารฯ ในฉบับนี้

เผยแพร่แล้ว: 29-06-2023

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย